กทม. ร่วมกับ TDRI จัดประชุมระดมข้อมูล การพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ
วันนี้ (14 พ.ย. 66) นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับกรุงเทพมหานคร (Workshop on SDGs Indicators for Bangkok Metropolitan Administration) ร่วมกับ ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หัวหน้าโครงการฯ
โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมข้อมูล การพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อกำหนดเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทของเมือง และกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะกับท้องถิ่น เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับเกณฑ์ ของสหประชาชาติ รวมถึงเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ด้าน SDG ระหว่างจังหวัดได้ โดยมีผลการศึกษาขั้นต้นของ TDRI เป็นเครื่องนำทางออกมาเป็น 16 เป้าหมาย 43 ตัวชี้วัด
พร้อมกันนี้มีผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP),ผู้แทนภาควิชาการ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานภายนอก 17 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,สำนักงานสถิติแห่งชาติ,การไฟฟ้านครหลวง,การประปานครหลวง,กระทรวงพลังงาน,กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร 16 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 55 คนเข้าร่วมประชุม
นางวันทนีย์ กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลก ภายในปี 2030 ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย 248 ตัวชี้วัด ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้วางกลไก และ Roadmap ในการขับเคลื่อน SDGs มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สร้างการตระหนักรู้ การเชื่อมโยง SDGs เข้ากับแผน 3 ระดับของประเทศ การกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ และประสานงานหลักการขับเคลื่อน SDGs การติดตามผลการดำเนินการ และการจัดทำ “รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (SDGs) ระดับชาติโดยสมัครใจ (VNR)” ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร(กทม.) และจากทุกหน่วยงานเป็นฟันเฟือง และหุ้นส่วนสำคัญที่ดำเนินการ ขับเคลื่อนในระดับหน่วยงาน
ในปี พ.ศ. 2566 กระทรวงมหาดไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) ได้ริเริ่มโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการนำเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืนไปปฏิบัติเชิงพื้นที่ในประเทศไทย (SDGs Localization) โดยกำหนดนำร่องใน 15 พื้นที่ ประกอบด้วย เชียงใหม่,เชียงราย,แม่ฮ่องสอน,ตาก,อุดรธานี,อุบลราชธานี,นครราชสีมา,กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี,สุราษฎร์ธานี,ภูเก็ต,สงขลา,ปัตตานี,ยะลา และ นราธิวาส โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การจัดทำรายงานชุดข้อมูลการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs Profile) ของจังหวัด ซึ่งในส่วนนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่ นำโดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หัวหน้าโครงการฯ เป็นผู้รับผิดชอบทั้ง 15 จังหวัดนำร่อง
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การ Localizing SDGs คือ การนำเอาบริบทการพัฒนาของพื้นที่ ซึ่งในที่นี้จะไม่ใช่เพียงการดำเนินงาน ของกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่รวมถึงภารกิจของหน่วยงานส่วนกลางที่ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ผนวกกับการดำเนินงานด้าน SDGs การประชุมในวันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญ ที่ทำให้หน่วยงานส่วนกลาง 17 หน่วยงาน หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) 16 หน่วยงานและภาควิชาการ ได้มาร่วมหาข้อตกลงร่วม ในการกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะกับท้องถิ่น แต่ยังคงมาตรฐานเดียวกับเกณฑ์ ของสหประชาชาติ รวมถึงเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ด้าน SDG ระหว่างจังหวัดได้ โดยมีผลการศึกษาขั้นต้นของ TDRI เป็นเครื่องนำทางออกมาเป็น 16 เป้าหมาย 43 ตัวชี้วัด
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับของการดำเนินงานครั้งนี้ จะไม่ใช่เพียงรายงาน ชุดข้อมูลการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs Profile) ของกรุงเทพมหานครที่ตัวเลข หรือมีความคืบหน้าดีกว่าพื้นที่อื่น แต่ยังเป็นการแสดงเจตจำนงค์ในการร่วมเป็นหุ้นส่วน ที่ดำเนินการเชิงรุกโดยมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ที่เกิดจากการตกลงร่วมกันอีกด้วย ทุกหน่วยงานจึงควรให้ข้อมูล และให้ความร่วมมือทีมงานจาก TDRI และกรุงเทพมหานคร ในการประสานข้อมูลและความร่วมมืออื่นๆ ในช่วงเดือน ธันวาคม 2566 กุมภาพันธ์ 2557 โดยจะได้ทราบข้อเสนอแนะ จากคณะผู้วิจัยต่อการดำเนินการของกรุงเทพมหานครต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวชี้วัดเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับกรุงเทพมหานคร
“ขอให้ทุกท่านในที่นี้ร่วมกัน เอ๊ะ คือ ไม่ต้องเชื่อผลการศึกษาทั้งหมด โดยสามารถให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ หรือแม้แต่จะขอเปลี่ยนแปลงก็ได้ แต่ขอให้ตัดสินใจบนฐาน ของความเหมาะสมกับบริบทการดำเนินงานตามภารกิจ รวมถึงความครบถ้วน และครอบคลุมของชุดข้อมูล” รองปลัดฯ กล่าว