ตุ๊กตุ๊กไทย เอกลักษณ์ไทยในสายตานักท่องเที่ยว หรือ ปัญหาในสายตาคนกรุง

หากพูดถึงขนส่งสาธารณะในประเทศไทยในมุมมองของชาวต่างชาติแน่นอนว่า ‘ตุ๊กตุ๊ก’ เป็นหนึ่งในตัวเลือกอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยความโลดโผนและแปลกใหม่ที่ชาวต่างชาติไม่เคยสัมผัสมาก่อน ความสะดวกสบายจากการกระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ไปจนถึงเคยถูกนำมาออกแบบชุดประจำชาติบนเวที Miss Universe 2015 จนคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมมาครอง และทำให้รถตุ๊กตุ๊กเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศไทยไปด้วย
ในขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามขึ้นมากมายเกี่ยวกับรถตุ๊กตุ๊ก จากชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเรื่องของการแต่งรถ ที่มีทั้ง ‘ท่อบึ้ม’ และ ‘การติดไฟ LED รอบคัน’ รวมไปถึงการเคารพกฎจราจร จอดรอในที่ห้ามจอด รวมถึงวินัยในการขับขี่
จากการลงสำรวจพื้นที่ บริเวณแยกประตูน้ำ และทันทีที่มาถึงเราก็พบกับภาพการจราจรที่แน่นขนัดไปด้วยรถยนต์เต็ม 3 ช่องถนน ซึ่งช่องโดยสารด้านซ้ายสุดหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งถูกจับจองพื้นที่ไปด้วยบรรดารถตุ๊กตุ๊กกว่า 10 คัน เมื่อสังเกตจะพบว่าบางคันมีการตกแต่งด้วยแสงไฟ LED สีฉูดฉาดซึ่งสร้างความโดดเด่น และชักชวนให้นั่งกว่าคันอื่น ๆ แต่ข้อสังเกตคือ การตกแต่งด้วยไฟ LED มากมายถึงขนาดนี้ไม่เป็นการสร้างความรบกวน หรือเป็นอุปสรรคแก่ผู้ขับขี่คนอื่น ๆ บนท้องถนนใช่หรือไม่
และเมื่อมองกลับไปที่ฝั่งตรงบริเวณใต้สะพานลอยข้ามแยกประตูน้ำ เราก็ได้พบกับคิวรถตุ๊กตุ๊กอีกกว่า 10 คันจอดแช่อยู่ริมฝั่งขวาสุดของช่องจราจร โดยที่บริเวณข้าง ๆ นั้นปรากฎป้าย “ห้ามจอดในช่องทางนี้” ของ สน.พญาไท ตั้งอยู่อย่างเห็นได้ชัดจนอดสงสัยไม่ได้ว่านี่เป็นความผิดปกติที่ทำกันจนเป็นปกติไปแล้วใช่ไหม
อีกหนึ่งจุดที่เราพบรถตุ๊กตุ๊กลักษณะคล้าย ๆ กันคือบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าย่านราชดำริ โดยมีการจอดแช่ 1 ช่องจราจรยาวไปจนถึงบริเวณหน้าป้ายรถประจำทาง ซึ่งทำให้รถประจำทางไม่สามารถจอดเทียบป้ายเพื่อรับผู้โดยสารได้อย่างสะดวก ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้รถประจำทางจำเป็นต้องเดินลงบนถนนเพื่อขึ้นรถซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้บริการเกิดอันตรายขึ้นได้
ทั้งหมดนี้ นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ควรมีการจัดระเบียบรถตุ๊กตุ๊กขึ้นมาใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะการจอดรอให้บริการผู้โดยสารที่อาจจะกำหนดพื้นที่ขึ้นมาคล้ายกับรถสาธารณะอื่น ๆ หรือกระทั่งการตกแต่งและดัดแปลงรถที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้แต่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ เพื่อให้หนึ่งในเอกลักษณ์คู่กรุงเทพฯ คู่ประเทศไทย ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส และมีความสุขกับประสบการณ์ตุ๊กตุ๊กไทย
เรื่อง/ภาพ : นันทกร วรกา