BANGKOK

กทม. ร่วมหารือกับ UNDRR พัฒนากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความหยุ่นตัว

กทม. ร่วมหารือกับ UNDRR เดินหน้าพัฒนากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความหยุ่นตัว – ระบบเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินช่องทาง กทม. พร้อมใช้ในปีหน้า

วันนี้ (10 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ Ms.Mami Mizutori ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDRR และ Mr. Marco Toscano-Rivalta ผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับ UNDRR

นายชัชชาติ กล่าวถึงเมืองแห่งความหยุ่นตัวในบริบทของกรุงเทพมหานครว่า คือความปลอดภัยในทุกมิติ โดยแบ่งออกเป็นระดับใหญ่ คือระบบและการดำเนินการต่าง ๆ ของเมืองในการรับมือกับภัยพิบัติ ส่วนระดับเล็ก คือชีวิตความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคล ปัญหาโควิด-19 ทำให้หลายคนประสบปัญหาด้านต่าง ๆ บางคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องการช่วยเหลือให้กลับมามีชีวิตและสุขภาพที่ดี และกลับเข้าสู่สังคมได้ในที่สุด

นายชัชชาติ กล่าวถึงโครงการ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กับกลุ่มเปราะบางในบริบทของ กทม. โดยวัดจะมีบทบาทมากในการสร้างความยืดหยุ่น เป็นการแจกอาหารส่วนเกินจากการทำบุญให้กลุ่มเปราะบาง อีกทั้งยังกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน เพื่อสังคมที่มีความยั่งยืนและเมืองที่มีความหยุ่นตัว

“ถ้ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความหยุ่นตัวก็จะเป็นการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน และความหยุ่นตัวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความน่าอยู่ของเมือง ซึ่งจะตอบกับนโยบายกรุงเทพเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเมืองแห่งความหยุ่นตัว โดยได้เข้าร่วมเครือข่าย UNESCO creative city, Healthy City Network, การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของ Climate Change, SDGs และ Resilience ให้กับประชาชน สำหรับระบบเตือนภัยของกรุงเทพมหานครภายในปีงบประมาณนี้ จะแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือต่อประชาชนในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน การแจ้งเตือนทาง Line Alert และ Line OA อีกทั้งยังมี Traffy Fondue Plus ซึ่งอยู่ระกว่างการพัฒนาเพื่อให้ผู้ใช้เลือกรับข้อมูลบริเวณสถานที่พักอาศัยหรือที่ทำงานของตน โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีการแจ้งเตือนและให้ข้อมูลเรื่อง PM 2.5 ฝน และน้ำท่วม

ทั้งนี้ สำนักงานของ UNDRR ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดำเนินงานส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีความหยุ่นตัว โดยการเข้าหารือในครั้งนี้ UNDRR พร้อมที่จะสนับสนุน กทม. ด้านต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของกรุงเทพมหานคร เครื่องมือต่าง ๆ ในการประเมินความหยุ่นตัวต่อภัยพิบัติของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเชิญ กทม. เข้าร่วม Global Resilience Forum ซึ่งจะจัดขึ้นที่ดูไบ โดยมีผู้เข้าร่วมคือ เมืองที่ได้รับการเลือกให้เป็น Resilience Hub เผยแพร่ข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการสร้างความหยุ่นตัวให้กับเมือง

Related Posts

Send this to a friend