‘ชัชชาติ’ ร่วมงาน 60 ปี ประเพณีศาลเจ้าพ่อหนู อนุรักษ์-ส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านพระนคร
วันนี้ (9 พ.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานร่วมพิธีเปิดงานประเพณีศาลเจ้าพ่อหนู ครั้งที่ 60 ประจำปี 2567 บริเวณปะรำพิธีจัดงานประเพณีศาลเจ้าพ่อหนู เขตพระนคร
นายชัชชาติ กล่าวว่า จุดนี้เป็นแหล่งสำคัญทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร มีสถานที่สำคัญหลายที่เชื่อมเข้ากับคลองโอ่งอ่าง สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี อยากให้จัดงานเป็นอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานครต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้อนาคตสามารถเป็นงานระดับโลก
สำหรับองค์เจ้าพ่อหนู ขนาดหน้าตักกว้าง 8.5 นิ้ว สูง 11 นิ้ว ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณวัตถุให้ความเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพักตร์คล้ายเด็กยิ้ม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวตลาดนานา บางลำพู ให้ความเคารพมาโดยตลอดกว่าร้อยปี คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า องค์พระพุทธรูปลอยน้ำมาติดริมฝั่งคลองโอ่งอ่าง ปัจจุบันเรียกว่าคลองบางลำพู จึงอัญเชิญขึ้นมาบูชาที่ศาลเล็ก ๆ ที่สร้างไว้บนดาดฟ้าของตลาดนานา
ต่อมาราว ๆ พ.ศ.2503 เกิดอัคคีภัย ชาวบ้านเห็นเด็กผู้ชายแต่งกายชุดสีชมพูยืนโบกธงอยู่บนหลังคาที่ตลาดนานา เพื่อไม่ให้อัคคีภัยลุกลาม และสงบลงโดยเร็ว ชาวบ้านที่ทำมาค้าขายในย่านบางลำพูซึ่งเป็นคนจีนเข้าใจว่าเด็กชายที่เห็นเป็นเทพยดา จึงพร้อมใจกันขนานนามพระพุทธรูปว่า “เจ้าพ่อหนู”
ในส่วนของศาลเจ้าพ่อหนูแห่งแรก เป็นศาลขนาดเล็กตั้งอยู่บนดาดฟ้าตลาดนานา ศาลเจ้าพ่อหนูแห่งที่ 2 เป็นศาลไม้ทรงไทยเล็ก ๆ ชั้นเดียวยกสูง ตั้งอยู่ริมคลองแนวเดียวกับศาลเจ้าพ่อหนูในปัจจุบัน มีการรวบรวมเงินเพื่อสร้างศาลเจ้าพ่อหนูที่ถาวรจนเป็นที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งเป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่โดยตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานนรรัตน์สถาน สร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546
ส่วนการจัดงานประเพณีศาลเจ้าพ่อหนูจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2507 จัดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นปีที่ 60 ถือเป็นกิจกรรมอนุรักษ์ประเพณีและส่งเสริมการท่องเที่ยวพระนคร กิจกรรมในงานประกอบด้วย พิธีสรงน้ำ ปิดทององค์เจ้าพ่อหนู พิธีอัญเชิญองค์เจ้าพ่อหนูมาประทับในปะรำพิธีจัดงาน แห่องค์เจ้าพ่อหนู การแสดงโชว์มังกรอวยพรโชคลาภ ประมูลตะเกียงเทวดาและสิ่งของมงคล การแจกข้าวสารอาหารแห้ง 1,000 ชุด การแสดงโชว์สิงโตดอกเหมย และพิธีอัญเชิญองค์เจ้าพ่อหนูจากปะรำพิธีกลับยังศาลเจ้าพ่อหนู