‘ชัชชาติ‘ ประชุมติดตามสถานการณ์โรคติดต่อใน กทม.

‘ชัชชาติ‘ ประชุมติดตามสถานการณ์โรคติดต่อใน กทม. ภาพรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น
วันนี้ (6 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพหมานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
นายชัชชาติ แจ้งที่ประชุมว่า เนื่องจากคณะกรรมการฯ ชุดเดิมหมดวาระดำรงตำแหน่งลง จึงแต่งตั้งคณะกรรมการในคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครชุดใหม่ขึ้น และวันนี้เป็นการประชุมติดตามสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นสูงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลเรียนคณะกรรมการฯ ทราบ
รศ.ทวิดา กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการติดตามโรคที่มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างเยอะ ได้แก่ โควิด-19 ฝีดาษลิง ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย ชิคุนกุนยา ไวรัสซิกา ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสเอชพีวี และโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.โควิด-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังเปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน
2.โรคฝีดาษลิง ผู้ติดเชื้อลดลงจาก 2 เดือนที่แล้ว แต่ยังเตือนให้ระวังในกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม
3.โรคไข้เลือดออกมีความเป็นได้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน จึงกำหนดมาตรการเชิงรุก เช่น การฉีดยุง กำจัดลูกน้ำยุงลายตามแหล่งเพาะพันธุ์ และประชาสัมพันธ์เรื่องการเฝ้าระวังอาการ
4.โรคไข้หวัดใหญ่ ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่าของค่ามัธยฐาน เมื่อเทียบจากปีที่ยังไม่มีการใส่หน้ากากอนามัย สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะผลิตเป็นล็อตในแต่ละปี ของ กทม. แม้จะจัดสรรให้ฉีดไปแล้ว 95% โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มเสี่ยง แต่ตัวเลขยังมีจำนวนมากอยู่ จึงประชุมเพื่อหาแนวทางที่จะทำให้จัดสรรวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น และจากข้อมูลในปีนี้มีผู้ป่วยในกลุ่มเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา (ป.1-ป.3) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจนำเชื้อไปแพร่สู่กลุ่มเสี่ยงที่บ้าน ดังนั้น กทม.คาดว่าในปีหน้าจะฉีดเพิ่มขึ้นในกลุ่มนี้
5.ไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุมะเร็งปากมดลูก โดยปกติ กทม. ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ให้เด็กชั้น ป.5 ทุกปี ยอดการฉีดกว่า 90% อีกทั้งตามนโยบายรัฐบาลต้องการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีน ดังนั้น จะจัดสรรวัคซีนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม
ทั้งนี้ สำนักอนามัยจะนำข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการฯ เพื่อนำไปพิจารณาถึงความเหมาะสม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อีกทั้งที่ประชุมเห็นชอบให้สำนักอนามัยเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีในกลุ่มเป้าหมายนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (อายุ 11-20 ปี) ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และเห็นชอบให้ผลักดันสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า