สภา กทม.เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67
9 หมื่นล้านบาท พร้อมประกาศใช้ 1 ต.ค.นี้ พบสำนักการโยธาฯ-สำนักงานเขตลาดกระบัง ได้รับจัดสรรมากสุด
วันนี้ (6 ก.ย.66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ รายละเอียดการปรับลด ข้อสังเกตทั่วไป และข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,570,138,630 บาท หลักเกณฑ์การพิจารณา คณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ เริ่มจากชื่อร่างข้อบัญญัติ หลักการ เหตุผล คำปรารภ ตัวร่างข้อบัญญัติ เรียงตามลำดับแล้วจึงพิจารณารายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายจนจบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียดประกอบการพิจารณา ทั้งนี้กรรมการวิสามัญฯ ได้ขอสงวนความเห็นเพื่อให้สภากรุงเทพมหานครวินิจฉัยในรายการของสำนักการศึกษา สำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักพัฒนาสังคม
นายสุทธิชัย กล่าวว่า งบประมาณที่ผ่านคณะกรรมการวิสามัญฯ มีมากกว่า 90,000 ล้านบาท กรรมการได้พิจารณาโดยยึดหลักความคุ้มค่า เป็นประโยชน์กับประชาชน สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน ขอบคุณกรรมการและอนุกรรมที่ได้ร่วมกันกลั่นกรองงบประมาณครั้งนี้ และขอบคุณหัวหน้าหน่วยงานที่ได้ร่วมชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามของคณะกรรมการ ขอบคุณฝ่ายเลขานุการ สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร และสำนักงบประมาณที่ได้ร่วมปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละมาต่อเนื่อง 45 วัน ทำให้กรุงเทพมหานครได้มีงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.ประจำปี 2567 ของกรุงเทพมหานคร รวม 90,570,138,630 บาท เรียงลำดับหน่วยงานและเขตที่ได้รับงบประมาณสูงสุดและน้อยสุด ดังนี้
หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักการโยธา จำนวน 10,199,547,439 บาท สำนักการระบายน้ำ จำนวน 7,860,495,076 บาท และสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 7,673,180,800 บาท
หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับ คือ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 71,184,800 บาท สำนักงบประมาณ จำนวน 85,596,510 บาท สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 189,471,700 บาท
สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานเขตลาดกระบัง จำนวน 774,356,920 บาท สำนักงานเขตหนองจอก จำนวน 754,150,533 บาท และสำนักงานเขตจตุจักร จำนวน 701,898,570 บาท
สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับ คือ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 237,412,410 บาท สำนักงานเขตบางรัก จำนวน 251,616,775 บาท และสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 275,383,900 บาท
ทั้งนี้ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง น.ส.รัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ขอสงวนความเห็นในประเด็นโครงการการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต โดยขอให้ตัดเนื่องจากไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการปรับปรุง และให้ความเห็นว่าการเขียนโครงการต้องเขียนให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.เรื่องเส้นเลือดฝอย การประมาณการเพื่อทำโครงการควรวิเคราะห์ให้สมเหตุผล ซึ่งคำขอรับงบประมาณทุกกลุ่มเขตไม่มีการให้รายละเอียดแต่อย่างใด การปรับปรุงห้องเรียนโดยการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศอาจเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกวิธี ต้นทางการแก้ปัญหาคือการปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้การปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น ควรปลูกฝังให้เด็กมีความรักและผูกพันกับต้นไม้ และอาจร่วมด้วยการงดกิจกรรมการแจ้ง และการหมั่นทำความสะอาด ทั้งนี้ความปลอดภัยของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ แต่การนำเด็กไปไว้ในห้องปรับอากาศตลอดเวลาเหมาะสมและปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงงบประมาณค่าไฟที่จะต้องเพิ่มขึ้นมา อย่างไรก็ตามหากกรุงเทพมหานครจะเสนอโครงการพร้อมรูปแบบการติดตั้งโซล่าเซลล์ในคราวเดียวกันจะเหมาะสมมากกว่า
ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น ให้ตัดงบประมาณของสำนักการศึกษาในโครงการดังกล่าว ในวงเงิน 219,339,000 บาท
ด้านนายชัชชาติ กล่าวชี้แจงในที่ประชุมว่า เรื่องนี้อยู่ในนโยบายการจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง อายุ 1-6 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สมองจะสามารถพัฒนาได้ดีที่สุด หลายครั้งเราละเลยเด็กกลุ่มนี้ ประกอบกับการสอนให้เด็กเล็กใส่หน้ากากทำได้ยาก จึงเกิดแนวคิดทำเรื่องห้องเรียนปลอดฝุ่น หลายครั้งที่ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนและเห็นว่าเด็กอยู่ในห้องเรียนที่ร้อน ห้องของเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ การลงทุนงบประมาณกับเด็กถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่า อนาคตต้องมีการติดโซล่าเซลล์ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเด็กรวยหรือเด็กจนควรได้รับโอกาสในการเรียนในห้องเรียนปรับอากาศ
จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งจะได้จัดส่งให้ฝ่ายบริหารดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ข้อบัญญัติงบประมาณฉบับนี้จะใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป