ชัชชาติ เผยระบบ CCTV ส่องหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า พร้อมใช้งานแล้วทั่ว กทม.
เตรียมระบบให้ประชาชนเข้าถึงไว้แล้ว รอ กกต. อนุมัติเผยแพร่ url จับตาหน่วยเลือกตั้ง ม.ราม ผู้ลงทะเบียนไว้ 52,000 คน มากที่สุดในประเทศ
วันนี้ (6 พ.ค. 66) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดห้อง CCTV ให้สื่อเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ระบบถ่ายทอดสัญญาณภาพจากห้องเก็บหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ของทั้ง 33 เขตทั่ว กทม. มีการจัดพื้นที่ปิดและใช้กล้องที่ติดตั้งซอฟแวร์ตรวจสอบความเคลื่อนไหว หลังการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค. 66) แต่ละเขตจะนำหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต มาเก็บรักษาไว้จนกว่าจะนำออกไปเปิดนับคะแนน หลังเวลา 17:00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 66
ชัชชาติ กล่าวว่า มีประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครกว่า 800,000 ราย โดยหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้ลงทะเบียนไว้มากที่สุดคือเขตบางกะปิ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ราว 52,000 ราย โดยภาพรวมมีความพร้อมทุกจุด อาจล่าช้าในพื้นที่เขตปทุมวันที่ใช้พื้นที่ของเอกชนในการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งมี 2 ประเทศ
การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เมื่อประชาชนไปใช้สิทธิต้องไปตรวจสอบรายชื่อว่าใช้สิทธิในเขตไหนของจังหวัดภูมิลำเนา แล้วไปตรวจสอบว่าอยู่ในชุดไหน เพื่อเข้าคูหานั้น การลงคะแนนจะได้รับบัตรลงคะแนนสองใบ แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมซองใส่บัตรที่ลงคะแนนแล้ว เมื่อลงคะแนนเรียบร้อยต้องนำบัตรทั้ง 2 ใบ ใส่ซอง ปิดผนึก นำไปให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งลงชื่อกำกับ ปิดด้วยเทปใส จากนั้นนำซองบัตรไปหย่อนหีบด้วยตัวเอง และเมื่อถึงเวลา 17:00 น. ปิดหีบเลือกตั้ง ไปรษณีย์ไทยจะมารับหีบบัตรไปจำแนก จัดส่งไปถึงเขตเลือกตั้งต่างๆ ทั่วประเทศ
ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต ประชาชนจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ไม่มีซองใส่บัตร ในคูหาเลือกตั้งจะมีหีบบัตรเลือกตั้ง 2 หีบ เมื่อเลือกเสร็จนำบัตรไปหย่อนหีบบัตร เจ้าหน้าที่จะนำไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเขต มีระบบ CCTV ตรวจจับการเคลื่อนไหว พร้อมแจ้งเตือนไปยังผู้บริหาร กทม. ทันทีหากพบสิ่งผิดปกติ จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ที่จะนำบัตรเหล่านั้นไปรวมนับคะแนนหลังเวลา 17:00 น.
ชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ระบบกล้อง CCTV มีความพร้อม และ กทม. ได้จัดทำเว็บไซต์สำหรับให้ประชาชนสามารถสังเกตห้องเก็บรักษาบัตรเลือกตั้งแบบ Real Time ไว้แล้ว อยู่ระหว่างการขออนุญาต กกต. ว่าจะสามารถเผยแพร่เว็บไซต์ให้ประชาชนได้หรือไม่ ยืนยันว่าระบบของ กทม. มีความพร้อมแล้ว
จากนั้น ชัชชาติ พร้อมผู้บริหาร กทม. ลงพื้นที่ไปสำรวจพื้นที่เลือกตั้งล่วงหน้าที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดคูหาเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตไว้ 1 ชุด มีผู้ลงทะเบียนไว้ 85 คน และจัดคูหาเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไว้ทั้งหมด 80 ชุด เมื่อประชาชนมาถึงสามารถตรวจสอบว่าตนอยู่ชุดที่เท่าไรได้ผ่านการแสกน QR Code ที่บอร์ดหน้าคูหา กรอกหมายเลขบัตรประชาชน มีการจัดทำแผนผังแจกประชาชนป้องกันความสับสน โดยคูหาชุดที่ 1-26 สีชมพู เป็นของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ, คูหาชุดที่ 27-42 สีฟ้า เป็นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, คูหาชุดที่ 43-60 สีเขียว เป็นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตกบางส่วน และ คูหาที่ 61-80 สีม่วง เป็นของภาคใต้
ชัชชาติ ระบุว่า ที่รามคำแหงมีความกังวลเรื่องความแออัด เพราะเมื่อคำนวนแล้วมีผู้มาใช้สิทธิเฉลี่ยคูหาละ 700 คน ในเวลา 9 ชั่วโมง (08:00-17:00 น.) คำนวณได้ว่าจะมีคนใช้สิทธิราว 70 คนต่อชั่วโมง หรือคนละประมาณ 1 นาที จึงกำชับเจ้าหน้าที่ออก แบบระบบป้องกันความสับสนและเผื่อเจ้าหน้าที่ไว้ในการเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิพร้อมกันสองแถวเพื่อลดความแออัดที่อาจเกิดขึ้นได้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้อยากให้ทุกคนรีบมาใช้สิทธิตั้งแต่เช้าหากมีเวลาว่าง เพราะอากาศไม่ร้อนและคาดว่าคนจะมาไม่เยอะมาก หากมาในช่วงเที่ยงหรือบ่ายอาจจะมีสภาพอากาศที่ร้อน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กทม. พร้อมทำให้โปร่งใสที่สุด ระบบในการตรวจสอบการเก็บหีบบัตรเลือกตั้ง ได้จัดทำไว้พร้อมแล้ว เหลือเพียงให้ กกต. อนุมัติว่าสามารถเผยแพร่ให้กับประชาชนได้หรือไม่
โดยในวันพรุ่งนี้ ชัชชาติ จะเดินทางมาเยี่ยมความเรียบร้อย และร่วมสังเกตการณ์ในช่วงการเปิดคูหาเลือกตั้งในช่วงเวลา 08:00 น. ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย