BANGKOK

กทม. เผย เจาะพื้นที่โซน B ที่พบสัญญาณชีพ เหลือไม่ถึง 1 เมตร แต่เสียงตอบกลับหายไป

ยังคงระดมเจ้าหน้าที่เข้าค้นหาต่อเนื่อง พร้อมหยุดเครื่องจักรหนักชั่วคราว เผยพบ แรงงานผู้ประสบภัยเพิ่มเป็น 103 ส่วนผู้เสียชีวิต 15 รายเท่าเดิม

วันนี้ (3 เม.ย. 68) ที่กองอำนวยการร่วม สน.บางซื่อ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ น.ส.ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการการสำนักงานเขตจตุจักร และ พ.ต.ท.วรภัทร สุขไทย รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ (รองผกก.ป.สน.บางซื่อ) แถลงข่าวถึงความคืบหน้าการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่ถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

นายสุริยชัย เปิดเผยว่า จากที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้ข้อมูลไปเมื่อเช้านี้ เจ้าหน้าที่ยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่โซน B และโซน C โดยโซน B อยู่ใต้พื้นไปประมาณ 3 เมตร ซึ่งในปัจจุบันใช้เครื่องจักรที่หนักขึ้น ดำเนินการไปได้ 2 เมตรกว่า ซึ่งหากดูจากเครื่องสแกนก็คาดว่าอีกไม่ถึงเมตร ก็จะถึงตัวผู้ที่ติดค้างอยู่ด้านใน โดยในปัจจุบันเรามีการตรวจสอบการตอบรับจากผู้ที่ติดค้างอยู่ ซึ่งล่าสุดเรายังไม่ได้รับการตอบรับกลับมาเหมือนเมื่อวาน และเมื่อเช้านี้

ส่วนในโซน C และโซน D ซึ่งเป็นบริเวณช่องลิฟต์ และเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดของโครงสร้างที่พังถล่มลงมา และเป็นจุดที่คาดว่า มีผู้ติดค้างอยู่ภายใน และเป็นจุดที่สุนัข K-9 มีปฏิกิริยาที่ต้องสงสัยว่าพบผู้ติดค้าง ตลอดทั้งวันได้ระดมกำลังค้นหา สุนัข K-9 และทีมกู้ภัยนานาชาติเข้าไปค้นหา โดยปัจจุบันได้เจาะ และเคลื่อนย้ายซากอาคาร และขุดเจาะเข้าไปถึงผนังช่องลิฟท์แล้ว และกำลังจะดำเนินการเจาะผนังช่องลิฟท์ เพื่อเข้าไปถึงโพรงด้านใน เช่นเดียวกับฝั่งที่คาดว่าน่าจะมีคนหนีลงบันได และอาจออกไม่ทันติดค้างอยู่ ที่ยังคงมีความหวังอยู่ว่าจะพบผู้ติดค้างอยู่บริเวณนี้

ส่วนปัญหา และอุปสรรคนั้น คือความแข็งของพื้นคอนกรีตที่ตกทับลงมาหลายชั้น มีความหนา และยากที่จะขุดเจาะช่องให้คนเข้าไปได้ ซึ่งต้องใช้ความกว้างพอสมควร ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เจอสัญญาณชีพเพิ่ม

ด้าน รศ.ทวิดา ระบุว่า มีการเปลี่ยนแปลงยอดผู้ติดค้างภายใน เนื่องจากได้ประสานกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตรวจสอบเพิ่มเติม แล้วพบว่าจากเดิมยอดแรงงานที่ทำงานอยู่ในตึก 96 คน เปลี่ยนแปลงเป็น 103 คน ส่วนจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 8 คน ที่ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล มีพนักงานในเขตก่อสร้างมารายงานตัว 1 คน โดยยอดผู้เสียชีวิตยังคงเดิมอยู่ที่ 15 คน

อีกทั้ง ยังพบผู้บาดเจ็บ 10 คน ที่มีรายชื่อ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นประชาชนทั่วไปที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่า ไม่มีประชาชนทั่วไปที่เสียชีวิต ซึ่งหากบวกลบแล้ว ขณะนี้ยังมีผู้สูญหายคงเหลือที่ 79 คน ไม่นับรวมยอดผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 10 คน ที่เป็นประชาชนทั่วไป

ขณะที่การรายงานผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy fondue) มีประชาชนรายงานและส่งหลักฐานเข้ามา ให้ตรวจสภาพอาคารจำนวน 17,112 เคส สามารถเข้าอยู่อาศัยได้(สีเขียว) 13,570 เคส ยังอยู่อาศัยได้ แต่ต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง (สีเหลือง) 387 เคส อยู่อาศัยไม่ได้ (สีแดง) 2 เคส

สำหรับการเยียวยา และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีการขอที่พักอาศัยผ่าน Airbnb และได้เปิดศูนย์พักพิง คือ ศูนย์ดินแดง วัดเสมียนนารี และศูนย์พักคอยญาติ คือ พื้นที่สำนักงานเขตจตุจักร รวมทั้งยังมีรายการที่ ปภ. และ กทม. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เช่น ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 49,500 บาท, ค่าที่พักอาศัยชั่วคราวหรือค่าเช่าบ้านจ่ายเฉพาะอาคารที่ กทม.ประกาศระงับการใช้ และไม่ได้เข้าไปอยู่ในส่วนพักพิงที่ กทม.จัดสรรเป็นเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน เป็นเงินไม่เกิน 6,000 บาท, ค่าจัดงานศพผู้เสียชีวิตรายละ 29,700 บาท และกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้หารายได้หลักของครอบครัว ได้เพิ่มครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท

ส่วนค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กรณีบาดเจ็บสาหัสช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 4,000 บาท กรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการ ช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นเงิน 13,300 บาท, เงินปลอบขวัญกรณีรับบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัยรายละ 2,300 บาท เงินทุนประกอบอาชีพครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท โดยเป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยที่ดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยัง กทม. เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายัง ปภ.ต่อไป

ส่วนขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีการเกิดแผ่นดินไหว สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องขอรับความช่วยเหลือได้ที่เว็บไซต์สำนักงานเขตหรือเว็บไซต์ของ กทม. โดยผู้ร้องต้องยื่นเอกสารคำร้อง และหลักฐานที่ฝ่ายปกครองสำนักงานเขต พร้อมให้ข้อเท็จจริง เอกสารหลักฐาน ประกอบด้วยแบบสอบข้อเท็จจริงผู้ประสบภัย, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีผู้ไม่มีสัญชาติไทยใช้สำเนาพาสปอร์ต, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาโฉนดที่ดิน, สำเนาใบอช.2 (โฉนดคอนโด), สำเนาบันทึกประจำวัน, หนังสือรับรองผู้ประสบภัยและบัญชีความเสียหายแนบท้ายฯ, บันทึก (ป.ค.14) ใช้ในกรณีที่เอกสารที่ยื่นยังไม่ชัดเจน, เอกสารประกอบการขอรับความช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมที่พักอาศัยฯ และรูปภาพความเสียหาย

ขณะที่ พ.ต.ท.วรภัทร กล่าวว่า ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ประชุมหารือสั่งการให้ สน.บางซื่อ ให้อำนวยความสะดวกกับญาติผู้ประสบภัย และให้ไปเก็บตัวอย่าง DNA ได้ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อพบบุคคลที่ค้นหาแล้วจะได้ทำการพิสูจน์ทราบว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมยืนยันว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการร่วมอยู่ 2 แห่ง คือ บริเวณจุดเกิดเหตุ และศูนย์อำนวยการที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ

สำหรับสถานการณ์จากศูนย์เอราวัณกรณีเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 35 ราย แบ่งเป็น นอนโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้าน 24 ราย มีผู้เสียชีวิต 22 ราย โดยเสียชีวิตที่เกิดเหตุ 19 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 3 ราย

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat