‘ชัชชาติ‘ เร่ง ส่งวิศวกรตรวจอาคารที่ได้รับผลกระทบกรณีแผ่นดินไหว

หลังพบแจ้งความเสียหายกว่า 700 จุด ย้ำ ขอประชาชนฟังความปลอดภัยก่อนเข้าตึก
วันนี้ (29 มี.ค. 68) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหว ที่ศูนย์บัญชาการรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า เช้านี้มีภารกิจเร่งด่วนอยู่ 2 เรื่อง คือ การกู้ภัยที่อาคารถล่มที่จตุจักร ซึ่งก็มีการเดินหน้าเต็มที่ไม่มีการยกเลิกทั้งสิ้น ส่วนที่มีข่าวลือว่ายกเลิกนั้นไม่ใช่เรื่องจริง แต่มีการปรับยุทธวิธีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเอาเครื่องมือหนักเข้าไปเพื่อจะได้หาคนที่รอดชีวิตอยู่ด้านในได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อคืนมีสัญญาณชีพอยู่ประมาณ 15 ราย โดยใช้เครื่องมือของ ปภ. ในการสแกน ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องเดินหน้าเต็มที่ ห้ามหยุด ห้ามช้า ซึ่งตนเองก็ได้สั่งการให้ลุยเต็มที่ เพื่อช่วยคนให้ได้มากที่สุด
ส่วนอาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ประชาชนยังมีความกังวลอยู่ สิ่งที่ กทม. ต้องเดินหน้าคือ การสร้างความมั่นใจว่าอาคารมีความปลอดภัย โดยวันนี้เราจะส่งวิศวกรอาสาที่มีอยู่ประมาณ 130 คน เข้าไปตรวจสอบอาคารเหล่านั้น ซึ่งก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วนทั้งอาคารภาครัฐ หน่วยงานราชการ และส่วนของอาคารเอกชน
นายชัชชาติ กล่าวว่า เมื่อคืนนี้มีประชาชนเข้าแจ้งเหตุที่ทราฟฟี่ฟองดูว์มีคนแจ้งประมาณ 2,000 คน เบื้องต้นเราก็มีหน่วยวิศวะที่นั่งประเมินความเสียหายเบื้องต้น จากภาพที่ประชาชนส่งเข้ามาก่อน ก็จะมีประมาณ 700 อาคาร ที่ต้องลงพื้นที่ไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องลงรายละเอียดลงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเช้า เพราะฉะนั้นก็จะมีการหารือแล้วก็มีการแบ่งหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่เขตเป็นผู้พาวิศวกรอาสาไปตรวจสอบ และให้ความเชื่อมั่นกับประชาชน
อีกทั้ง มาตรฐานการเปิดสวนธารณะที่ กทม. มีการเปิดให้ใช้ให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อนเพื่อให้เกิดความสบายใจ
นายชัชชาติ เผยว่า เมื่อคืนนี้มีหลายหน่วยงานที่ช่วยเข้าไปแจกจ่ายอาหาร ประชาชนด้วยซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนไทยมีจุดแข็งในเรื่องการร่วมมือร่วมใจกับเหตุการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว ซึ่งในวันนี้ก็จะมีการเปิดสวนต่ออีกหนึ่งคืนตลอด 24 ชั่วโมง และในช่วงเย็นของวันนี้ตนเองได้สั่งการให้สวนสาธารณะมีการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะทำให้ประชาชนสบายใจมากยิ่งขึ้น
ส่วนเมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68) เขตที่แจ้งมากที่สุดจะเป็นแถวดินแดง ห้วยขวาง ปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตึกสูงเยอะ ส่วนเขตรอบนอกกรุงเทพมหานครแทบไม่มีเลยเชื่อว่าสถานการณ์ก็ค่อยจะคลี่คลายลง ส่วนวิศวกรอาสาที่มาช่วยลงพื้นที่ในวันนี้จำนวน 130 คนนั้น นายชัชชาติ เผยว่า น่าจะเพียงพอเพื่อรองรับให้ทันในวันจันทร์ (31 มี.ค. 68) เพราะวันนี้มีการเริ่มทำงานหารือตั้งแต่เช้า ซึ่งก็จะทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 วัน แต่ใน 700 เคส ไม่ได้หนักทุกกรณี เพราะที่ได้รับความเสียหายหนักจริง ๆ คงมีไม่กี่เคส ซึ่งตอนนี้มีรายงานว่าจะมี 2 เคส ตอนนี้ที่เป็นปัญหาใหญ่ เป็นคอนโดแห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ตนเองได้รับรายงานว่ารถไฟฟ้าหลายสถานีมีการทยอยทดสอบความปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคืน และในวันนี้ก็มีการเปิดใช้งานปกติ แต่รถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองยังคงปิดให้บริการอยู่ เชื่อว่าการจราจรก็น่าจะบรรเทาลงไปได้ ส่วนเรื่องการจราจรในตอนนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะบริเวณดินแดงขาเข้า และขาออก บนทางด่วนถนนดินแดงยังไม่มีการเปิดใช้งาน ที่ล่าช้าเพราะ พื้นที่นั้นไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการกำกับดูแลของ กทม. ซึ่งก็อยู่ในการภายใต้อำนาจของการทางพิเศษ ต้องไปคุยกับผู้รับเหมาอาคาร ยืนยันว่า กทม. อยากรีบเคลียร์เพื่อเปิดการจราจรให้เป็นปกติ แต่ต้องรอพูดคุย แต่มีการขอให้เร่งรัดกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า แต่จากเหตุการณ์จราจรเมื่อเช้านี้ประชาชนเริ่มปรับตัวในเรื่องการเดินทาง อย่างไรก็ตามคิดว่าน่าจะทันในวันจันทร์ (31 มี.ค. 68) แน่นอน เพราะว่าเมื่อคืนเป็นบทเรียนสำคัญคือช่วงนี้การจราจรในกรุงเทพก็มีปัญหาอยู่แล้ว จากการปิดถนน ปิดสะพาน เพื่อทำการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ พอมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวประกอบกับรถไฟฟ้าปิดให้บริการก็ทำให้สถานการณ์เมื่อคืนหนักอยู่เหมือนกัน
นายชัชชาติ ย้ำว่า แผ่นดินไหวที่เกิดเหตุเมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68) เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก แต่ว่าอาคารที่พังทลายมีอยู่แค่หนึ่งอาคาร ซึ่งเป็นอาคารที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จส่วนที่เหลืออีกหลาย 100 อาคารไม่มีการพังทลาย ภาพที่เห็นเป็นเพียงแค่ภาพจุดเล็ก ๆ ในกรุงเทพ อาคารส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาจะมีเพียงรอยร้าวบ้าง ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกสถานการณ์ก็ค่อยจะคลี่คลายลงแล้ว ร่วมกับเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกก็มีจำนวนที่น้อยลงและเบาลงด้วย
เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่ที่มีสถานการณ์หนักเช่นนี้เกิดขึ้น ก่อนที่จะหมดวาระการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการ นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่เป็นไรเลย ถือว่าเป็นหน้าที่ของเรา เพราะก่อนหน้านี้เราก็มีการเตรียมพร้อมมีแผนดำเนินการอย่างชัดเจน อย่างเมื่อวาน (28 มี.ค. 68) ก็สามารถจัดตั้งศูนย์ภายใน 10 นาที หลังเกิดเหตุแล้ว ทุกคนก็สามารถมาร่วมมือกันแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนจะมีการพูดคุยกับผู้รับเหมาหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า การพูดคุยกับผู้รับเหมาเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งผู้รับเหมาไม่ใช่คนของเราด้วย แต่ตอนนี้ กทม. อยากจะมุ่งเป้าไป 2 เรื่องก่อนทั้งเรื่องการช่วยชีวิต และการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ส่วนเรื่องใครผิดใครถูกนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญได้ไปตรวจดูอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้ต้องตรวจสอบกันระยะยาวตนเองก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุง เพื่อออกมาตรการในอนาคตให้ดีขึ้น