TECH

5 สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 เรียนรู้เพื่อเตรียมตัวสู่อนาคต

ผลวิจัย Future of Connected Living โดย เดลล์ เทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันแห่งอนาคต (Institute for the Future หรือ IFTF) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชั้นนำของโลกที่สนับสนุนองค์กรธุรกิจและภาครัฐด้านการพัฒนาและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ และ Vanson Bourne สำนักวิจัยการตลาดชั้นนำ ชี้ให้เห็นว่าในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า Emerging Technology (เทคโนโลยีเกิดใหม่) อย่าง 5G การใช้งาน AI (ปัญญาประดิษฐ์) เทคโนโลยี Extended Reality (XR) ที่รวมถึง Virtual Reality และ Augmented Reality ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายแล้วในปัจจุบัน รวมถึง Internet of Things (IoT) หรือ อินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (ไอโอที) จะเข้ามาพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ และสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับชีวิตผู้คนทั่วโลก โดยได้คาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างปีนี้จนถึงปี 2030 (พ.ศ. 2573) ว่า

1. Network Reality

เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงและโลกไซเบอร์จะหายไป เพราะโลกไซเบอร์จะเข้ามาซ้อนทับกับโลกจริงและการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ทุกอย่างจะเชื่อมโยงเข้าหากันเป็นโครงข่าย reality ในทุกช่วงจังหวะของชีวิต และไม่ได้อยู่แค่ในหน้าจอ บนทีวี หรือสมาร์ทโฟนอีกต่อไปแล้ว

78% ของนักธุรกิจชั้นนำในไทย ยอมรับว่าจะเปิดกว้างในการนำเทคโนโลยี AR และ VR มาใช้มากขึ้น

2. Connected Mobility and Networked Matter

ยานยนต์แห่งอนาคตจะเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ที่เราขับขี่ได้ จะขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ และจะเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันทั้งระบบ และทำให้เกิดการซ้อนทับของโลกไซเบอร์กับโลกจริง เช่น การเลือกเส้นทางที่รถติดน้อยกว่า การหลบหลีกกันของยานยนต์แต่ละคัน การคำนวณหาเส้นทางบนโลกจริงด้วยยานยนต์แห่งอนาคตที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบ เป็นต้น อีกหน่อยคนจะไว้ใจให้ยานยนต์อัจฉริยะควบคุมรถโดยไม่ต้องขับเอง และรถจะดูแลตัวเอง สั่งการเข้าไปซ่อมบำรุงที่ศูนย์บริการเองเมื่อมีปัญหาอีกด้วย

78% ของนักธุรกิจชั้นนำในไทย เชื่อว่าจะเดินทางด้วยยานยนต์ไร้คนขับภายในปี 2030

3. From Digital Cities to Sentient Cities

เราจะไม่พูดกันถึงเมืองดิจิทัล อีกแล้วในปี 2030 จะมองไปที่ Sentient City หรือเมืองที่มีความรู้สึก มีชีวิตผ่านการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ และระบบการวิเคราะห์แปรผลต่างๆ จากการใช้ชีวิตของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการปัญหาแบบอัจฉริยะด้วยการวิเคราะห์และแก้ไขด้วยตัวเอง โดยความเป็นเมือง และความเจริญจะขยายตัวออกไปรอบนอกเมืองใหญ่มากขึ้นอีกด้วย

4. Agents and Algorithm

ระบบผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น โดยจะคาดการณ์ความต้องการ และจัดการทำให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายดายขึ้นแบบเชิงรุก คือไม่ต้องสั่งการเป็นรายครั้ง ทำให้เรามีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นมากขึ้น

89% ของนักธุรกิจชั้นนำในไทย คาดการณ์ว่าจะทำให้สามารถจัดโครงสร้างการบริหารเวลาใหม่ได้

5. Robot with Social Lives

หุ่นยนต์ หรือจักรกลอัจฉริยะจะกลายเป็นเพื่อน เป็นหุ้นส่วนชีวิตของมนุษ์ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะ ความสามารถของมนุษย์ และจะแบ่งปันองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านเครือข่ายจักรกลอัจฉริยะ กลายเป็นศูนย์รวมนวัตกรรม และความก้าวหน้าที่จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ

60% ของนักธุรกิจชั้นนำในไทย ยอมรับได้ที่จักรกลอัจฉริยะจะทำงานด้วยตัวเองได้ในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีความห่วงใยเกี่ยวกับการใช้ algorithm ในการตัดสินใจด้านต่างๆ อาทิ การเลือกคัดคนเข้าทำงาน การเลือกให้สินเชื่อกับบุคคล ว่าจะมีความเที่ยงธรรมเพียงพอหรือไม่ และความเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่อง Data Privacy (ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล) อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการสร้างกฏเกณฑ์ และข้อกำหนดที่ชัดเจนในการใช้ AI อีกด้วย

หมายเหตุ: การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการโดยการสำรวจความคิดเห็นจากนักธุรกิจชั้นนำ 1,100 คนใน 10 ประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (รวมประเทศไทย) และญี่ปุ่น (APJ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง เดลล์ เทคโนโลยี IFTF และ Vanson Bourne และเผยแพร่ในงาน Dell Technology Forum 2019 ที่จัดขึ้นที่ไบเทค กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง Future of Connected Living Research

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat