TECH

คณะวิทย์ มธ. หนุนใช้ ‘เอไอช่วยบริการภาครัฐ’ หลังนำร่องจัดเก็บภาษี ยกระดับบริการดิจิทัลภาครัฐ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับตาภาครัฐใช้ ‘เอไอช่วยบริการภาคประชาชน’ หลังประกาศเตรียมให้บริการจัดเก็บภาษี ในชื่อว่า ‘แชทบอทน้องอารี ผู้ช่วยอัจฉริยะเรื่องภาษีสรรพากร’ หนุนภาคประชาชน เอกชน และรัฐ ใช้เทคโนโลยีดีพเทค ครีเอทคอนเทนต์การตลาด นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการยกระดับบริการดิจิทัลภาครัฐ เน้นพึ่งพาเทคโนโลยี ไม่ใช่การแทนที่ ‘มนุษย์’ ในหน่วยงานหรือสถานประกอบการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ส่องเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่ภาครัฐใช้ ‘เอไอช่วยบริการภาคประชาชน’ นำร่องโดยใช้ Chat-GPT จัดเก็บภาษี เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สร้างสมดุลระหว่าง ‘มนุษย์-เอไอ’ และยังเป็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเอไอ เพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ ในฐานะผู้ให้บริการแก่ภาคประชาชน ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการแก้ปัญหาเชิงระบบที่เกิดจากจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่มีความซับซ้อนหรือจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารจำนวนมาก โดย คณะวิทย์ มธ. มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเอไอเข้ามาใช้ประโยชน์กับบริการของภาครัฐ โดยใช้จุดแข็งของเอไอมาช่วยยกระดับในการใช้บริการ ดังนี้

1.เอไอเชื่อมโยงข้อมูลมหาศาลสู่การให้บริการที่รวดเร็ว เนื่องจากภาครัฐมีข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเอไอสามารถช่วยจัดระเบียบข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ความต้องการของผู้เข้ารับบริการ ลดการรอคอย เกิดความสะดวก และรวดเร็ว

2.เอไอช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และธรรมาภิบาล ในการเก็บรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้หน่วยงานดูทันสมัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรภาครัฐ

3.เอไอช่วยลดข้อร้องเรียนและยกระดับการให้บริการ เอไอเรียนรู้และวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือการช่วยลดข้อผิดพลาด การสูญเสียเวลาที่ไม่จำเป็น และยังช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปในการพัฒนารูปแบบการให้บริการ

จากเทรนด์และความเป็นไปได้ของการใช้เอไอในประเทศมากขึ้น คณะวิทย์ มธ. เห็นถึงโอกาสในการประยุกต์ใช้เอไอ เพื่อสร้างโอกาสในเส้นทางอาชีพแนวใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน และลดการสูญเสียเวลาของทุกฝ่าย ครอบคลุม 3 ภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.ใช้เอไอช่วยครีเอทคอนเทนต์ หากนำเอไอเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรม ความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงเทรนด์ที่ได้รับความนิยม คอนเทนต์ครีเอเตอร์ จะผลิตคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และตรงใจกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น หรือก็คือ การนำเอไอมาช่วยกำหนดรูปแบบคอนเทนต์ (Shape Content)

2.ใช้เอไอเดินเกมการตลาด (AI Marketing) เอไอสามารถรวบรวมข้อมูลบนโลกออนไลน์ ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล ที่สามารถปรับเลือกจัดกลุ่มข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายได้จำเพาะมากยิ่งขึ้น เช่น ชื่อประเทศ ประเภทความสนใจ นอกจากนั้นยังติดตามพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค คำที่ถูกใช้ค้นหาสินค้าและบริการมากที่สุด ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่นักการตลาดหรือบริษัทเอเจนซี่ (Agency) นำไปต่อยอดเชิงธุรกิจ หรือปรับแผนการตลาดให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภคได้

3.ดึงเอไอช่วยปลดล็อคทุกข้อสงสัย เพราะขั้นตอนการเข้ารับบริการจากหน่วยงานราชการ มีความซับซ้อนในด้านข้อมูลหรือจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารจำนวนมาก

ปัจจุบัน ‘กรมสรรพากร’ นำร่องใช้เอไอเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการภาษีประชาชน ในชื่อว่า ‘แชทบอทน้องอารี ผู้ช่วยอัจฉริยะเรื่องภาษีสรรพากร’ ที่มาพร้อมความสามารถในการสร้างเสียงพูดจากข้อความ การรู้จำเสียงพูด นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการยกระดับบริการดิจิทัลภาครัฐ ที่เน้นการพึงพาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมิใช่การแทนที่ ‘มนุษย์’ ในหน่วยงานหรือสถานประกอบการ

Related Posts

Send this to a friend