Metaverse คืออะไร? หลากความหมาย หลายมุมมอง ของ “จักรวาลนฤมิต”
“เมตาเวิร์ส” หนึ่งในคำที่เป็นกระแสร้อนแรงที่สุดในหลายเดือนที่ผ่านมา โดยถูกพูดถึงทั้งในข่าวไอที, ข่าวธุรกิจ, ข่าวบันเทิง, รายการวิเคราะห์หุ้น, ไปจนถึงรายการรีวิวเกม, ฯลฯ
… รวมถึงข่าวที่ราชบัณฑิตสภาของไทยถึงกับออกมาบัญญัติคำไทยให้ว่า “จักรวาลนฤมิต” จนเป็นที่ฮือและฮาไปตามๆกัน …
บางคนที่ติดตามข่าว บทความ และรายการเหล่านี้มากๆ ก็อาจสับสนแล้วว่าจริงๆแล้วคำว่า “Metaverse” คืออะไร ? อะไรที่เป็นเมตาเวิร์ส และอะไรไม่ใช่เมตาเวิร์ส ? ทุกวันนี้โลกเรามีเมตาเวิร์สเกิดขึ้นหรือยัง ?
เพื่อความเข้าใจง่าย เราจะเริ่มจากการเทียบ “เมตาเวิร์ส” เข้ากับ 5 สิ่งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็น 5 อย่างที่ยอมรับกันในวงกว้างว่า สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็น “จักรวาลนฤมิต” ได้ในอนาคตอันไม่ไกล
คือเกมออนไลน์ (Openworld multi-player games) ?
เกมประเภทนี้รู้จักกันมานานกว่าสิบปีแล้ว เช่นเกม Ragnarok, GTA ( Grand Theft Auto ), ฯลฯ ซึ่งหลายๆคนจะเล่นในฉากเดียวกัน พร้อมกัน และทำสิ่งที่มีผลกระทบต่อกันได้แบบรีลไทม์คล้ายโลกจริง รวมถึงมีสิ่งต่อยอดไปนอกจากการเล่น เช่นแต่ละคนก็มีอาชีพ มีอาวุธสิ่งของในครอบครอง มีเงินในเกม ฯลฯ
คือ VR (Virtual Reality) หรือ “ความจริงเสมือน” ?
คือการที่ใส่ “แว่นวีอาร์” แล้วจะเห็นฉากรอบตัวได้ตามการหันศีรษะจริงๆ เช่นถ้าเข้าไปสู่โลก VR ริมทะเล เมื่อเงยหน้าจะเห็นท้องฟ้า ก้มหน้าจะเห็นผืนทราย มองไปข้างหน้าจะเห็นท้องทะเล เป็นต้น
โดยโลกเสมือน VR นี้อาจจะเป็นภาพวิดิโอจริง ถ่าย 360 องศาจากสถานที่จริง หรือจะเป็นภาพเคลื่อนไหวกราฟฟิกก็ได้
นอกจากนั้นยังอาจะมีการที่ต้องใส่ถุงมือ VR กับรองเท้า VR เพื่อที่ว่าถ้าขยับมือหยิบจับอะไร ก็จะเห็น “มือเสมือน” ในจอขยับตามนั้นด้วย ซึ่งประโยชน์หลักก็คือใช้ชี้เลือกเมนูสั่งการต่างๆข้างใน เพราะอย่าลืมว่าเมื่อใส่แว่น VR แล้ว เราจะมองไม่เห็นโลกจริงรอบตัวเลย
ส่วนอีกประโยชน์ใหญ่ๆก็คือใช้เล่นเกม เช่นกำมือแล้วกวัดแกว่งดาบเพื่อฟันวัตถุที่วิ่งมาใส่หน้าแบบ 3 มิติแบบเกม “Beat Saber” ที่โด่งดังเป็นต้น
คือ AR (Augmented Reality) หรือ “ความจริงซ้อนทับ” ?
โลกเออาร์ คือการที่เรายกมือถือขึ้นมาส่องโลกจริงๆตรงหน้า แล้วจะเห็นกราฟฟิกบางอย่าง หรือภาพวิดิโอบางคน โผล่ซ้อนทับกับความจริงตรงหน้า อาจจะเพื่อให้ข้อมูลเพิ่ม หรือสร้างสีสันความสนุกต่างๆ
โดยตัวอย่าง AR ที่หลายคนรู้จักดีในหลายปีหลังนี้ ก็คือเกม Pokemon Go ที่จะเห็นสัตว์ประหลาดกระโดดโลดแล่นตรงหน้าซ้อนกับฮากจริงให้เราโยนบอลจับ และหลายๆครั้งเราก็ต้องเดินไปบางสถานที่จริงเช่นลานหน้าห้างดัง หรือศาลพระภูมิใหญ่แถวบ้าน เพราะมี “จุดประลอง” ให้ชิงฐานกันที่นั่นด้วย
และในระยะหลัง โลกเออาร์ก็ไม่ได้มีแค่ในจอมือถือ เพราะมีแว่นบางตัวที่เป็นได้ทั้งแว่น VR และแว่น AR เช่น Microsoft Hololens ทำให้เราเห็น Augmented Reality ซ้อนทับผ่านแว่นกึ่งใสได้ โดยไม่ต้องหยิบมือถือมายกส่องแต่อย่างใด
คือเกมคริปโตฯ (NFT Games หรือ Play-to-earn Games) ?
เกมรูปแบบใหม่ที่ฮิตกันมากในช่วงไม่ถึงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วต้องจ่ายเงินจริงเป็นค่าซื้ออาวุธ , ซื้อรถ, หรือซื้อ “ที่ดินในเกม” มาเป็นกรรมสิทธิก่อนจะเล่นได้
ตัวอย่างเกมดังๆแนวนี้ก็เช่น Axies Infinity ที่ต้องซื้อสัตว์ประหลาดต่างๆมาเลี้ยงไว้ประลองกับคนอื่น, CryptoCars ซื้อรถมาสะสมและนำออกวิ่ง, หรือ Bomb Crypto ที่กติกาคล้ายเกมยุคเก่า BomberMan ที่รู้จักกันดี
หรือบางเกมก็ยังไม่มีกติกาชัดเขน แต่เป็นโลกเสมือนที่คุยว่าให้ทุกคนเข้าไปสร้างเกมของตัวเองได้หลากหลาย เป็น “เกมในเกม” อยู่ภายในนั้นได้อีกที แต่จะต้องซื้อ “ที่ดินเสมือน” ในเกมก่อน ซึ่งตัวอย่างเกมประเภทนี้ก็เช่น Decentraland เจ้าของสกุลเงิน Mana , หรือเกม The Sandbox ซึ่งให้ออกแบบสร้างวัตถุต่างๆได้อย่างค่อนข้างอิสระ แล้วสามารถครอบครองหรือขายต่อได้ด้วย
เกมเหล่านี้ เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีภารกิจง่ายๆ ให้ทำแทบจะทุกวัน แล้วจะค่อยๆได้เงินคืนมาเป็นเงินสกุลในเกม โดยบางเกมก็ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะคืนทุน แล้วไปลุ้นกำไรต่อจากนั้น แต่บางเกมก็ล่มสลายปิดหนีหายไปก่อน
หรือบางเกมแม้ยังไม่ปิดหนีไปไหน แต่การคืนทุนก็นานช้าออกไปเรื่อยๆ เพราะค่าเงินสกุลในเกมตกต่ำลงเรื่อยๆอย่างมาก และการจะถอนออกมาเป็นเงินจริงก็มีค่าธรรมเนียมสูง
โดยรวมแล้วจึงมีทั้งคนที่กำไรมาก กำไรน้อย ขาดทุนน้อย หรือแม้แต่ขาดทุนทั้งหมดที่ลงไปจากเกมเหล่านี้ แล้วแต่กรณีๆไป
คือโซเชียลฯแบบใหม่ ผ่านโลกกราฟฟิกและอวาตาร์ ?
ผู้บุกเบิกเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใคร เป็น Facebook นั่นเอง โดยได้เปิดตัวโลกเสมือนที่ชื่อ “Facebook Horizons” มาตั้งแต่ปลายปี 2019 โดยต้องใส่แว่น VR ยี่ห้อ Oculus จากบริษัทลูกของเฟสบุ้คเอง แล้วจากนั้นจะเข้าไปพบปะกับคนอื่นๆใน Horizons ได้ โดยแต่ละคนจะปรากฏในร่างอวาตาร์แนวการ์ตูนที่คล้ายๆตัวจริง ซึ่งเราจะเลือกสไตล์ของหน้าตา ทรงผม เพศ เสื้อผ้า ฯลฯ ได้เอง
บางคน บางความคิดเห็น ก็มองว่าแค่สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่มีมานานแล้ว ก็เรียกว่าเป็น metaverse ได้แล้ว ฉะนั้นเมตาเวิร์สในความหมายของคนกลุ่มนี้ ก็มีความหมายกว้างมาก และไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด
แต่หลายๆฝ่ายก็มองว่ายังไม่พอ เพราะ 5 สิ่งนี้ แต่ละอย่าง ต่างก็ขาดอะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งต้องมีให้ครบก่อนถึงจะเรียกว่าเป็น metaverse ที่แท้จริงได้ … ซึ่งตัวอย่าง 6 คุณสมบัติที่เมตาเวิร์สควรมี ก็เช่น …
คุณสมบัติที่ 1 ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆได้แบบรีลไทม์แบบพร้อมกันหลายๆคน
นี่เป็นสิ่งที่เกมออนไลน์ทั้งหลายและโลกโซเชียลมีกันอย่างเต็มที่และสนุกสนานมานานแล้ว, ส่วนเกมคริปโตยุคนี้แม้จะมีบ้าง แต่ก็ยังจำกัดกว่ามาก และถูกหลายคนมองว่าไม่มีความสนุกใดๆนอกจากเก็งกำไรไปวันๆ, ส่วนแอพหรือเกม VR และ AR นั้น ก็ยังทำได้เพียงไม่กี่แอพ
คุณสมบัติที่ 2 ผู้เล่น ต้องสามารถตกแต่งหรือออกแบบสิ่งต่างๆในนั้นได้
ข้อนี้เกมออนไลน์ยุคเก่าอาจมีแค่ให้เลือกแต่งตัวหรือแต่งรถจากสิ่งต่างๆที่มีให้ แต่เกมยุคใหม่ เช่นเกมคริปโตชื่อดังอย่าง The Sandbox นั้นถึงกับให้ออกแบบและ “วาด” สิ่ง 3 มิติต่างๆขึ้นมาได้อย่างอิสระกันเลย โดยเรียกสิ่งที่สร้างขึ้นโดยผู้เล่นนั้นว่าเป็น NFT หรือ Non Fungible Token คือเป็นสินทรัพย์ดิจิตัลที่ไม่สามารถถูกเลียนแบบทำซ้ำได้
NFT นี้ก็เปรียบได้เสมือนรูปวาดโมนาลิซ่า ที่แม้ว่าจะมีคนวาดเลียนแบบหรือถ่ายเป็นไฟล์ส่งไปมากันมากมาย แต่ของแท้นั่นก็มีได้เพียงหนึ่งเดียว ตรวจสอบได้โดยองค์กรผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าเป็น NFT ก็ตรวจสอบการตามมาตรฐาน blockchain กันไป
คุณสมบัติที่ 3 ผู้เล่น ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิบางสิ่งบางอย่างในนั้นได้ โดยสามารถขายต่อได้ด้วย
ข้อนี้เป็นจุดขายของเกมคริปโตฯทั้งหลาย แต่ก็มีหลายฝ่ายแย้งว่ากรรมสิทธินั้นจะหายไปทันทีถ้าระบบเกมล่ม เจ้าของเกมหนีหาย ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งกับหลายเกมแล้ว
คุณสมบัติที่ 4 มีระบบเศรษฐกิจอยู่ในนั้น เช่นมีผลตอบแทนจากการทำบางอย่าง มีระบบการซื้อขาย ไปถึงมีสกุลเงิน
นี่ก็เป็นจุดขายของเกมคริปโตฯทั้งหลาย ส่วนทำแล้วจะคุ้มหรือไม่ ด้วยเวลานานเท่าไร ก็เป็นภารกิจที่ผู้เล่นจะต้องประเมินก่อนจะไปลงทุนลงเวลา รวมถึงใครที่เล่นไปแล้วก็ต้องวางแผนตลอดเวลา เพื่อตัดสินใจว่าจะซื้ออะไร จะขายอะไร หรือจะถอนเงินออกมาเป็นเงินจริงเมื่อไรและเท่าไร ?
คุณสมบัติที่ 5 เชื่อมโยงกับระบบอื่นๆได้ เดินทางข้ามระบบได้ และนำสินทรัพย์จากแห่งหนึ่งไปใช้อีกแห่งได้
แนวคิดนี้มองว่าโลก metaverse ที่แท้จริงนั้น ผู้เล่นเกมหนึ่ง ต้องสามารถโอนย้ายสิ่งของหรือเงินไปๆมาๆกับเกมอื่นๆได้อย่างสะดวก
นอกจากนั้น ระหว่าง “เดิน” อยู่ในเกมหนึ่ง ก็ต้องมีทางที่สามารถออกไปเกมอื่นๆ แล้วก็ยังกลับเข้ามาได้ คล้ายกับการเดินทางข้ามประเทศกันไปมาด้วย
และสุดท้าย โลก metaverse จึงแทบจะมีหนึ่งเดียว เป็นโลกที่กว้างใหญ่ รวมทุกเกมและทุกแพลตฟอร์มไว้ด้วยกัน ซึ่งแนวคิดนี้ยังค่อนข้างเป็นอุดมคติ ที่ยังเกิดขึ้นไม่ได้จริง และยังห่างไกลจากที่เล่นกันอยู่ในทุกวันนี้มาก
คุณสมบัติที่ 6 มีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ ไม่ฝากข้อมูลทั้งหมดไว้ที่ใดที่เดียว
แนวคิดนี้มองว่า แม้โลกเมตาเวิร์สแห่งหนึ่งๆจะเป็นของบริษัทเดียว แต่ก็ควรจะมี “เจ้าของร่วม” ให้มากรายที่สุด เพื่อที่หากในอนาคตบริษัทนั้นๆไม่อยู่แล้ว แต่โลกนั้นๆจะยังสามารถดำเนินต่อไป เพราะมีการ “กระจายศูนย์” หรือ “Decentralize” การประมวลผลออกไปหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งเป็นคอนเส็ปต์ของ blockchain นั่นเอง
ซึ่งทุกวันนี้บางรายก็ใช้แนวทางนี้แล้ว เช่นบริษัทเกมคริปโตฯที่ชื่อ Gala ซึ่งให้คนทั่วไปมีสิทธิลงทุนตัั้งเซิฟเวอร์ “Gala Nodes” มาเป็น “เซิฟเวอร์ร่วม” ช่วยเก็บข้อมูลและประมวลผลเกมต่างๆของบริษัท Gala โดยแต่ละรายก็จะได้รับผลตอบแทนไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้คืนทุนและกำไรเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง
บทสรุป
จากทั้งหมดที่ประมวลไป ดูเหมือนคำว่า metaverse จึงยังไม่มีความหมายที่กระชับชัดเจนถึงขนาดที่เขียนลงในพจนานุกรมให้ท่องตามกันได้แบบเป๊ะๆ เพราะยังอยู่ในช่วง “เป็นวุ้น” หรือช่วง “ตั้งไข่” ให้แลกเปลี่ยนถกเถียงกันอยู่
และถ้าจะกำหนดว่า metaverse ต้องมีทุกคุณสมบัติทั้งหมดที่กดล่าวมา … ก็แปลว่าโลกเราทุกวันนี้ยังไม่มี metaverse ที่แท้จริงเกิดขึ้นเลย
… จึงต้องจับตาดูกันยาวๆต่อไปว่า “จักรวาลนฤมิต” metaverse จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ? เมื่อไร ? และจะมี “เจ้าภาพ” หรือไม่ ? เป็นใครบ้าง ? … ซึ่งทั้งหมดคงเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามอย่างยิ่ง