TECH

IBM ผลักดันการใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

IBM ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายนำเทคโนโลยี AI ช่วยองค์กรพัฒนาระบบซัพพลายเชนให้มีความยืดหยุ่น โปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับได้ และลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการใช้ intelligent workflows และออโตเมชัน ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทั้งในแง่ธุรกิจและความยั่งยืน

ปัจจุบันปัญหาความท้าทายด้านสภาพอากาศและความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนกำลังประสบ โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร ที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร ผลกระทบจากภัยพิบัติรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ไม่ว่าจะในรูปแบบของน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ยังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ซึ่งมีสัดส่วนถึง 6% ของ GDP และ 30% ของปริมาณการจ้างงานของประเทศ

แอ็กเนส เฮฟท์เบอร์เกอร์ General Manager และ Technology Leader ของ IBM ASEANZK กล่าวว่า ไอบีเอ็มได้ทำการสำรวจซีอีโอทั่วโลก รวมถึงในอาเซียน ว่าประเด็นเรื่องความยั่งยืนมีความสำคัญเพียงใด โดยซีอีโอเกือบครึ่งระบุว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นหนึ่งในสิ่งที่องค์กรกำลังให้ความสำคัญสูงสุด ซึ่ง AI จะเป็นเครื่องมือเดียวที่จะช่วยจัดการกับข้อมูลมหาศาลที่องค์กรต้องวิเคราะห์เพื่อจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน นั่นหมายความว่า AI จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร

AI ช่วยให้องค์กรสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยั่งยืนที่กระจายอยู่ทั่วทั้งองค์กรได้อย่างง่ายดาย และออโตเมทข้อมูลระหว่างระบบปฏิบัติการและโครงการด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ได้ ช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในแนวทางที่ยั่งยืนขึ้น

“ไอบีเอ็มเชื่อมั่นอย่างมากว่าองค์กรต้องใช้ AI หากต้องการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่สิ่งที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ได้ตั้งไว้ คือการมองเรื่องนี้แบบครอบคลุม 360 องศา ไม่ใช่การมองแค่เพียงมิติใดมิติหนึ่ง” แอ็กเนส กล่าว

อรุณ บิสวัส พาร์ทเนอร์อาวุโส และผู้นำด้านความยั่งยืน ของ IBM Asia Pacific กล่าวว่า ESG ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการรายงานหรือปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่าง ๆ แต่เป็นกลไกที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับองค์กร ความสามารถในการบริหารจัดการ ESG อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อผลประกอบการทางธุรกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มของธุรกิจ

“ผลวิจัยล่าสุดของเราสะท้อนให้เห็นช่องว่างที่ใหญ่มากระหว่างเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่องค์กรปรารถนาที่จะไปให้ถึง กับความก้าวหน้าของผลการดำเนินการในโลกแห่งความเป็นจริง โดยหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือการขาดข้อมูลและมุมมองเชิงลึกแบบเรียลไทม์ในการช่วยขับเคลื่อน KPI ด้านความยั่งยืนต่าง ๆ” ผู้นำด้านความยั่งยืน ของ IBM Asia Pacific กล่าว

ทั้งนี้ IBM Envizi จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์ข้อมูล ESG ได้ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะจัดเก็บอยู่ที่ไหน และสามารถเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นเป็นมุมมองเชิงคาดการณ์เพื่อใช้ในการวัดความก้าวหน้าของการดำเนินการ โดยเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรลดผลกระทบจากระบบปฏิบัติการของตนที่อาจเกิดแก่สิ่งแวดล้อมได้

Growthpoint Properties Australia ซึ่งเป็น investment trust ด้านอสังหาริมทรัพย์บน ASX และ S&P/ASX 200 ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านความโปร่งใสด้าน ESG โดย Growthpoint ต้องการแสดงข้อมูลความก้าวหน้าด้านความยั่งยืนให้กับผู้ถือหุ้นและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้และมีความเกี่ยวข้องมากที่สุด

แคทรินา ไอทิน ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน Growthpoint Properties Australia กล่าวว่า บริษัทต้องการแสดงข้อมูลที่โปร่งใสและเชื่อถือได้เกี่ยวกับการดำเนินการด้านความยั่งยืนแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยข้อมูลเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืน ช่วยให้ตั้งเป้าหมายที่ต้องการไปถึงได้ อีกทั้งยังช่วยให้ตัดสินใจลงทุนหรือประเมินได้ว่าบรรลุเป้าหมายแล้วมากน้อยเพียงใด

Growthpoint เลือกใช้ IBM Envizi เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการผนวกรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยมีเฟรมเวิร์คครอบคลุม 4 มิติ ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ คน และธรรมาภิบาล พร้อมกรอบโฟกัส 11 จุด โดยมีเป้าหมายที่วัดได้ทั้งสิ้น 20 รายการ ดังตัวอย่างเฟรมเวิร์คด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในเดือนกรกฎาคม 2568 การรักษาระดับ NABERS Energy ของอาคารออฟฟิศไว้ที่ 5 ดาว การเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับ Scope 3 ทั้งหมด การลดปริมาณขยะลงเฉลี่ย 35% ในอาคารออฟฟิศทุกแห่งที่ Growthpoint เป็นเจ้าของภายในปี 2568

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat