TECH

เอ็นไอเอ (NIA) เปิดตัว 3 นวัตกรรม สู่การพัฒนาอากาศสะอาดปลอดฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือของไทย

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ล่าสุดเปิดตัว 3 นวัตกรรมลดฝุ่น PM 2.5 ช่วยฟอกปอดคนเชียงใหม่ ที่ต้องต่อสู้กับฝุ่นควัน PM 2.5 ในช่วงหน้าหนาว เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อม เมื่อมวลความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุม ส่งผลให้ลมสงบ ฝุ่นละอองถ่ายเทได้ยาก จึงเกิดการสะสมของฝุ่นละอองและฝุ่น PM 2.5 ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดให้ฝุ่น PM 2.5 อยู่กลุ่มสารก่อมะเร็ง ที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปอด โรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงาน ของร่างกายและเพิ่มโอกาส ให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคหลอดเลือดในสมองได้ ดังนั้นปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่าย ต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ประกาศให้การแก้ไขปัญหา มลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า “ปัจจุบันนวัตกรรมด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย ยังมีไม่มากนัก และยังต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่ง ดังนั้นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และต้นทุนต่ำอย่างหนึ่ งก็คือ การส่งเสริมให้คนในเขตเมืองเลือกใช้รถสาธารณะ และการเดินแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น หรือช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก ตั้งแต่ระเบียงหรือเขตพื้นที่บ้าน ขณะที่ภาครัฐต้องจริงจังในการบังคับ ใช้กฎหมายกับยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ เพิ่มมาตรการควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มทางเท้า เพิ่มพื้นที่สาธารณะ รวมถึงศึกษานวัตกรรมและวิธีแก้ปัญหาจากประเทศ ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว เพื่อนำมาปรับใช้ เพราะปัญหาฝุ่นควันเป็นปัญหาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกต่างก็พบเจอเช่นกัน”

สำหรับ 3 นวัตกรรมลดปัญหาฝุ่นระดับโลก โอกาสในการพัฒนาโซลูชั่นด้านอากาศของไทย

1.Smog Free Tower หอคอยปลอดควัน เครื่องฟอกอากาศกลางแจ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีขนาดสูง 7 เมตร เทียบเท่าตึกสูงสี่ชั้น แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้กำลังไฟเพียง 1,400 วัตต์ ซึ่งจากการทดสอบพบว่า ตัวเครื่องสามารถจับฝุ่นละออง PM 10 ได้มากถึงร้อยละ 70 และ PM 2.5 ได้ถึงร้อยละ 25 มีระบบการทำงาน คล้ายกับเครื่องฟอกอากาศในโรงพยาบาล สามารถฟอกอากาศได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันมีการติดตั้งที่เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์

2.Air-Purifying Billboard เครื่องฟอกอากาศบนป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ ตัวป้ายสามารถฟอกอากาศได้มากถึง 3.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเทียบเท่ากับต้นไม้จำนวนกว่า 1,200 ต้น ผลงานจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เมืองลิมา ประเทศเปรู

3.Photosynthesis Bike: จักรยานลดฝุ่นด้วยการเลียนแบบการสังเคราะห์แสงของพืช โดยการกรองคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านอุปกรณ์ระหว่างช่องแฮนด์จักรยาน และมีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ฝังอยู่ในเฟรมจักรยาน เป็นตัวช่วยสร้างออกซิเจน แม้ว่าผลงานนี้ยังเป็นแค่ไอเดีย แต่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้จริงได้ในอนาคต

ด้านนวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นตัวอย่างในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ที่มีการปลูกข้าวโพดจำนวนมาก จึงเกิดเป็นนวัตกรรมกระดาษ จากเปลือกข้าวโพด และออกแบบพัฒนาเป็นปลอกสวมแก้วจากกระดาษ และที่รองแก้ว หรืออีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ นวัตกรรมการจัดการระบบนิเวศป่าเปียกชุมชน จากวิสาหกิจชุมชนเกษตร ผสมผสานบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยการพัฒนาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ป่าชุ่มชื้นขึ้น ลดการเกิดไฟป่า อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบการจัดการ ด้านการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนผ่านเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน และยกระดับการแปรรูปของป่า ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ในการยังชีพ การสร้างรายได้ และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนพร้อมๆกันได้อย่างยั่งยืน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองที่ไร้ฝุ่นควัน เพื่อทำให้หน้าหนาวในฝันของชาวเมืองเหนือ กลับมาสดใสได้อีกครั้ง”

Related Posts

Send this to a friend