เปิดภารกิจ ‘สรรพชัยย์’ แม่ทัพ NT คนแรก “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้”
เปิดภารกิจ ‘สรรพชัยย์’ แม่ทัพ NT คนแรก “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้” จับตา! ปมโอนคลื่น 700 MHz ให้เอไอเอส มอง ดีลทรู-ดีแทค กระทบการแข่งขัน ยอมรับ ธุรกิจบรอดแบนด์เข้าขั้นโคม่า ขอพนักงานให้เวลาผู้บริหารเร่งแก้ปัญหา
หลังการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กับ บริษัท กสท.โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ CAT ได้รับแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ NT
ภารกิจหลัก “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้”
พันเอก สรรพชัยย์ เปิดเผยว่า NT เป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งเดียวที่ดูแลเรื่องโทรคมนาคม หลังการควบรวมจึงมีปัญหาต้องแก้หลายเรื่อง สำคัญคือ “การลดความซ้ำซ้อน” แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ และการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของภาครัฐ โดยจะดำเนินการตามภารกิจที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมาย อาทิ
“โครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร” ที่ปัจจุบันร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตัดสายเก่าเดินสายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในตามถนนสายหลัก “โครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน” ที่NT พร้อมดำเนินการทันที เนื่องจากมีท่อร้อยสายใต้ดินอยู่แล้ว 4,450 กิโลเมตร สามารถรองรับเคเบิลทองแดงขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถแขวนกับเสาไฟฟ้าได้ “โครงการคลาวด์กลางภาครัฐ” หรือ GDCC ที่เน้นให้บริการในระดับโครงสร้างพื้นฐาน สเต็ปท์ต่อไปคือ การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ Open Data และระบบ SaaS (Software as a Service) ของหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะปรับบทบาทNT ให้เป็น Neutral Operator ให้บริการทรัพยากรกับผู้ให้บริการทุกค่ายอย่างเท่าเทียม ภายใต้หลักการInfrastructure Sharing เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการ
จับตา! เตรียมโอนคลื่น 700 MHz ให้เอไอเอส
หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนหนีไม่พ้น การขับเคลื่อนธุรกิจ 5G ที่ NT ประมูลชนะมา 2 ย่านความถี่ ได้แก่ คลื่นความถี่ต่ำ 700 MHz ในราคา 34,306 ล้านบาท ที่มีรายงานว่า บอร์ด NT ลงมติเห็นชอบแผนธุรกิจโอนคลื่นความถี่จำนวน 5 MHz ไปเป็นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ส่วนอีก 5 MHz NT จะให้ผู้บริการรายอื่นเช่าใช้ ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
พันเอก สรรพชัยย์ มั่นใจว่า คลื่นความถี่ 700 MHz ประมูลมาในราคาไม่แพง เพราะมีการศึกษาและวางแผนธุรกิจมาอย่างดี แม้ 2 ปีที่ผ่านมาคลื่นความถี่ดังกล่าวยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรและสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 6,600 ล้านบาท แต่หากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. NT ก็พร้อมที่จะเซ็นสัญญากับพันธมิตรทันทีภายในเดือนธันวาคม 2565 และจะดำเนินตามแผนธุรกิจที่วางไว้ คาดการณ์ว่าสร้างกำไรจากการให้บริการคลื่นความถี่นี้ ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งโจทย์ยากอยู่ที่ “การทำตลาด” ส่วนคลื่นความถี่สูง 26 GHz จะเน้นลงทุนเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ สำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เฉพาะกลุ่มอย่างในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (EEC) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่ Smart City
มองดีล ทรู-ดีแทค กระทบ NT
ส่วนดีลการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์เปเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC อาจทำให้ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศแข่งขันยากขึ้น มองในแง่ดี NT จะขยับเป็นผู้เล่นรายที่ 3 ในมุมผู้ให้บริการเครือข่าย (Operator) อาจกระทบไม่มากนัก เพราะมีสัดส่วนทางการตลาดแค่ 2% ขึ้นอยู่กับ กสทช.จะมีความเห็นว่าอย่างไร แต่ในฐานะผู้ถือหุ้นของ DTAC ได้ยื่นเสนอให้บอร์ดพิจารณาว่า จะขายหุ้นหรือไม่ ซึ่งมติบอร์ดขอให้ถือหุ้นไว้ตามเดิม
พันเอก สรรพชัยย์ ยอมรับว่า ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บอร์ดแบนด์) ของ NT เข้าขั้นโคม่า แม้จะมีส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ประมาณ 20% แต่การแข่งขันสูง “เลือดไหลออกตลอดเวลา” ยิ่งผู้เล่นน้อยราย ยิ่งแข่งกันดึงลูกค้า ทางออกคือ ต้องปรับความเร็วในการให้บริการ ลดต้นทุนในการติดตั้งหากไม่ทำคงต้องออกจากตลาดไป ส่วนธุรกิจโมบาย กำลังจะผสานบริการ TOT Mobile กับ CAT Mobile ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อลดความซ้ำซ้อน
เชื่อ ควบรวม TOT-CAT มาถูกทาง
TOT และ CAT มีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งพันเอก สรรพชัยย์ ได้วางนโยบาย (Public Policy Announcement) ไว้ 26 ข้อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร ทั้งยังมีโครงสร้าง Day 1.5 ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นการปรับลดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และพนักงานในแผนกอื่น ๆ ลง 20-30% นอกจากนี้ยังมีโครงการเออร์ลี่รีไทร์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายขององค์กรในระยะยาว ใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท ตั้งเป้าลดพนักงาน 6,000 คน ภายในปี 2564-2566 โดยปี 2564 มีพนักงานเข้าร่วมโครงการแล้ว 1,075 คน ส่วนเป้าหมายปี 2565 ต้องการปรับลดพนักงาน 1,800 คน
พันเอก สรรพชัยย์ ชี้แจงผลประกอบการในปี 2565 ถึงปัจจุบัน มีรายได้รวม 49,557.65 ล้านบาท มีงบประมาณลงทุน 12,000 ล้านบาท กำไรใน 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ประมาณ 1,600-1,900 ล้านบาท ตั้งเป้าขาดทุนที่ 10,000 ล้านบาท เนื่องด้วยโครงการเออร์ลี่รีไทร์ และคดีความที่อยู่ระหว่างศาลตัดสิน 2 คดี
ส่วนประเด็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในองค์กร มีความเห็นว่า พนักงานต้องเปิดใจยอมรับผู้บริหารและให้เวลาผู้บริหารในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ก่อนวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนผู้บริหารมีหน้าที่บริหารให้พนักงานเห็นว่า มีคุณธรรมเพียงพอ ไม่เลือกปฏิบัติ
“คงตอบไม่ได้ว่า การควบรวม TOT-CAT ดีหรือไม่ดี แต่เชื่อว่าการควบรวมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ขอให้ดูที่การบริหารงานหลังจากนี้”