TECH

ดีป้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 4/64 ปรับตัวดีขึ้น

ชี้ผู้ประกอบการดิจิทัลต้องการให้รัฐผลักดันให้เกิด National Platform

ดีป้า เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 4 ปี 2564 เพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนโยบายกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยวของภาครัฐ และแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ผู้ประกอบการดิจิทัลต้องการให้ภาครัฐผลักดันให้เกิด National Platform พร้อมเร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ให้เอื้อต่อการลงทุนโดยชัดเจน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 4 ประจำปี 2564 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 52.5 เพิ่มขึ้นจาก 45 ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิต การค้า การบริการ ด้านคำสั่งซื้อ โครงการที่ได้ทำ ทำงานร่วมกับพันธมิตร คู่ค้า ด้านการจ้างงาน และด้านการลงทุนเพื่อประกอบการ

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ระดับ 52.5 เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนโยบายกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยวของภาครัฐ และแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าองค์กร อีกทั้งเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐผลักดันให้เกิด National Platform และกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์ดิจิทัลภายในประเทศทดแทนการส่งออก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งเป็นหน่วยงานต้นแบบในการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรสู่สังคมดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมความรู้และทักษะดิจิทัลขั้นสูง พร้อมดำเนินการเปิดเผยฐานข้อมูลและแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจต่อไปได้ พร้อมกันนี้ ภาครัฐควรเร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบให้มีความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อมาตรการช่วยเหลือด้านการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend