TECH

สภาดิจิทัลฯ ชู 7 ข้อ ‘เปลี่ยนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล’ เสนอรัฐบาลใหม่พาไทยสู่ ‘ไทยแลนด์ 5.0’

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย แถลงในงาน สภาดิจิทัลฯ กับโจทย์ใหญ่ไทยแลนด์ 5.0 “เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” นำเสนอนโยบายสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม หวังยกระดับการทำงานภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ปลดล็อกศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ดึงดูดการลงทุน ผลักดันให้เกิดเทคสตาร์ทอัพ 20,000 บริษัทในไทย พร้อมสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทุกมิติ ดันไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีในภูมิภาค

นายศุภชัย กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศ ทำให้คนไทยและธุรกิจไทยแข็งแกร่ง จึงมีการแถลงนโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทย มุ่งสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทุกมิติ เพื่อเป็นแนวทางให้พรรคการเมืองนำไปกำหนดเป็นนโยบายพัฒนาประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้มีความแข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับสร้างขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น

“หากเราดูจากอันดับการแข่งขันในเวทีโลกด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 26 และอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่อันดับที่ 40 อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารอยู่อันดับที่ 15 ของโลก รวมถึงทักษะภาษาอังกฤษอันดับที่ 97 นอกจากนั้น ด้านการลงทุน พบว่า ต่างประเทศลงทุนด้านเทคโนโลยีเหลือเพียง 2% ของมูลค่ารวมอาเซียน ดังนั้น จะเห็นว่าประเทศไทยมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก นอกจากนี้ ความท้าทายของโลกและของประเทศไทยมี 4 ประการ ประกอบด้วย ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงแหล่งทุน (Inclusive Capital) การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (Digital Transformation) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) โลกแบ่งขั้ว (Multi Polar) ประเด็นท้าทายข้างต้นเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งสิ้น”

การยกระดับประเทศไทยให้ก้าวข้ามความท้าทายในระดับโลกได้นั้น สภาดิจิทัล ฯ จึงเสนอแนวทางสำคัญ 5 ด้าน ที่จะเสริมศักยภาพและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค 5.0 ซึ่งประกอบด้วย

1.บูรณาการให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม (PUBLIC-PRIVATE-PARTNERSHIP)
วางรากฐานของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ด้วยการยกระดับสู่รัฐบาลดิจิทัล (E-Government) ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และผสานความร่วมมือในประเด็นที่คาบเกี่ยวหรือทับซ้อนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เกิดความโปร่งใส เร่งดึงฝู้มีฝีมือเข้าสู่การทำงานภาครัฐในระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน และควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20% ปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ ส่งเสริมทุกภาคส่วนร่วมผลักดันให้ไทยขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

2.สร้างคนทักษะดิจิทัลโดยการปฏิรูปการศึกษา
ตั้งเป้า 6% ของคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป มีทักษะดิจิทัลขั้นสูง (เขียนโปรแกรมได้) ภายในปี 2570 ปัจจุบันคนไทยที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูง มีเพียง 7 แสนคน หรือ 1% ขณะที่มาเลเซียมีถึง 16% ซึ่งระดับทักษะดิจิทัลส่งผลทั้งด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม การวิจัยพัฒนานวัตกรรม การวางแผนการพัฒนาบุคคลากร และการดึงดูดการลงทุน ควรปฏิรูปการศึกษา โดยเริ่มจากการวางหลักสูตรด้านเทคโนโลยีในการศึกษาภาคบังคับ การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ และ Computer Science เป็นวิชาหลัก ผลักดันให้เยาวชนไทย 7 ล้านคน มีคอมพิวเตอร์ที่คัดกรองเนื้อหาที่เข้าถึงการค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรม และควรปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา ส่งเสริมทักษะด้านภาษา สร้างแหล่งเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ระดับมหาวิทยาลัยต้องมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม ระดับเมืองควรเป็นคลัสเตอร์แห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม

3.สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
ประเทศไทยต้องปรับบทบาทจากการเป็นเพียงผู้ใช้และเป็นตัวกลางซื้อขายเทคโนโลยี เปลี่ยนมาเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับ SME ให้ก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้น ผู้ผลิตสินค้า และบริการดิจิทัล ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเกษตร มุ่งสู่ศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหาร (Agro/Food Security Hub) ยกระดับโดยใช้เทคโนโลยี Smart Farming, Food Tech และ Digitalization ช่วยบริหารการเพาะปลูก ปรับระบบ Supply Chain และสร้างแบรนด์ไทยในระดับโลก โดยผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับ 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน

4.ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568
สร้างเทคสตาร์ทอัพ 20,000 บริษัทในไทย ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเกิดการจ้างงาน Digital & Tech Workforce ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ดึงดูดนักลงทุนระดับโลกด้วยความพร้อมทางภูมิศาสตร์และความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมที่มีอยู่ อีกทั้งจำนวนสตาร์ทอัพยังแสดงถึงความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจลงทุน รัฐควรตั้งเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนระดับโลก อย่างน้อย 3 ราย และต้องสร้าง 5 Innovation Center ระดับโลก ได้แก่ 1.Bio 2.Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health care / Health Tech ตลอดจนผลักดันนโยบายเร่งด่วนเพื่อดึงดูดการลงทุน และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

5.สร้างสังคมดิจิทัลควบคู่ส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม
ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนโดยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางจำนวน 1 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมภายในปี 2566 รัฐบาลควรส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัล (Digital Vaccine) ความปลอดภัย และความรู้เท่าทันเทคโนโลยี แก่ประชาชน ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนแบบ Green Economy ที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อให้ต้นทุนพลังงานถูกลง นอกจากนี้ รัฐควรสนับสนุนดิจิทัลคอนเทนต์คุณภาพ สร้างอัตลักษณ์คุณค่าทางวัฒนธรรมไทย ผสมผสานทั้งสื่อ วัฒนธรรมและเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน และสนับสนุนคอนเทนต์คุณธรรมและจริยธรรมในช่วงเวลา Prime Time ด้วยการสร้างแรงจูงใจ เช่น เงินทุนสนับสนุน หล่อหลอมวัฒนธรรมกับเทคโนโลยี ขับเคลื่อนวัฒนธรรมของชาติให้ออกสู่เวทีโลก

นายศุภชัย กล่าวสรุปถึง 7 ประเด็นสำคัญที่อยู่ภายใต้ 5 ข้อเสนอข้างต้น เพื่อเป็นแนวทางแก่รัฐบาลใหม่ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนี้

1.กำหนดวิชาภาษาคอมพิวเตอร์/Computer Science เป็นวิชาหลักในการหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์คัดกรองที่ดีและมีคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี

2.ส่งเสริม Media & Content ที่เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม ในช่วง Prime Time ด้วยการให้ Incentive

3.ตั้งเป้าเทคสตาร์ทอัพ 20,000 บริษัท เพื่อช่วย Digital Transformation และ Digital & Tech Workforce 1 ล้านคน

4.ยกระดับการเกษตร Agro Industry Transformation / Smart Farming / Food Tech & Brand /
สร้าง 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน 5.0

5.ดึงดูดคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือน เทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน ปรับรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล (E-Government) และควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20%

6.สร้าง 5 Innovation Centers ระดับโลก ได้แก่ 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health Care/Health Tech

7.สนับสนุนการต่อยอดผู้ประกอบการไทย

สภาดิจิทัลฯ ได้สรุปความเห็นของที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ รองประธาน คณะกรรมการ สมาคมสมาชิก และองค์กรพันธมิตร สภาดิจิทัลฯ นำเสนอแนวคิดการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลของประเทศแก่พรรคการเมืองต่าง ๆ ในการเลือกตั้ง 2566 เพื่อเป็นแนวทางกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเร่งช่วยต่อยอดให้ผู้ประกอบการไทยได้ต่อไปอย่างแข็งแรงและเติบโตทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับโลก

Related Posts

Send this to a friend