สกสว. – บพข. ผนึก สภาดิจิทัลฯ พัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเต็มรูปแบบ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) รับฟังข้อคิดเห็นจากภาคเอกชน นำไปพัฒนาแผนด้าน ววน. สนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม พัฒนากำลังคน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า นวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์อยู่ในแผน P5 ของแผนด้าน ววน. ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายไว้ทั้งด้านมูลค่าการขายผลิตภัณฑ์และบริการเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การมีจำนวนหน่วยงานภาครัฐหรือผู้ประกอบการไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย พัฒนา และด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มขึ้น
ความร่วมมือครั้งนี้ สกสว. รับฟังโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนด้าน ววน. ที่สนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่จะนำไปสู่การสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย จึงร่วมมือกับ สกสว. และ บพข. พัฒนาและสนับสนุนการวิจัยด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตลอดจนนำองค์ความรู้และผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. เปิดเผยว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าทางดิจิทัลเทคโนโลยีในประเทศไทย นำไปสู่ Digital Transformation โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ การเกษตรและอาหาร ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ และการท่องเที่ยว
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของการร่วมกันพัฒนากรอบวิจัย การพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานวิจัย การสร้างระบบนิเวศ การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้และผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ สร้างความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมดิจิทัล และยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ