ที่ประชุมโอลิมปิค เตรียมเพิ่มจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพแข่งฟุตบอลรอบคัดเลือก ซีเกมส์ ครั้งที่ 33 อนุมัติบรรจุ กาบัดดี้-วู้ดบอล-เจ็ตสกี
วันนี้ (29 พ.ย. 67) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ มอบหมายให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีพฯ เป็นประธานการประชุมกรรมการบริหารคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 ซึ่งมีวาระสำคัญ คือการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า และการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงโครงการส่งเสริมการกีฬาเพื่อพัฒนาชาติไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่ประชุมมีมติอนุมัติชนิดกีฬา ประเภทกีฬา และรายการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พร้อมสนามแข่งขัน 3 จังหวัดเจ้าภาพ คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และสงขลา ประกอบด้วย 50 ชนิดกีฬา 105 ประเภทกีฬา 569 รายการ และกีฬาสาธิต อีก 3 ชนิดกีฬา ได้แก่ ชักกะเย่อ จานร่อน และกีฬาทางอากาศ อนุมัติบรรจุ 3 ชนิดกีฬา คือ กาบัดดี้ วู้ดบอล และเจ็ตสกี ให้สามารถจัดการแข่งขันได้ ซึ่ง กรุงเทพฯ จะใช้แข่งขัน 38 สนาม ชลบุรี 14 สนาม สงขลา 6 สนาม และจะเพิ่มจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลรอบคัดเลือก ขณะที่มาเลเซียยืนยันการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 34 ในปี 2570 แน่นอนแล้ว
การเตรียมเป็นเจ้าภาพของไทย สิ่งที่กำลังดำเนินการคือการปรับปรุงสถานที่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในธันวาคมนี้ การเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ในการเตรียมทีมนักกีฬา ทั้งเรื่องทดสอบสมรรถภาพร่างกายนักกีฬา ความต้องการด้านงบประมาณ ที่เตรียมจะขออนุมัติงบกลางเพิ่มเติม
ส่วนการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 วันที่ 7-14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน กับ 6 ชนิดกีฬา โดยจะมี 2 ชนิดกีฬาที่เริ่มแข่งขันก่อนพิธีเปิด คือ กีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง และกีฬาเคอร์ลิ่ง โดยไทยเตรียมส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมชิงชัยจำนวนทั้งสิ้น 132 คน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมการกีฬาเพื่อพัฒนาชาติไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับการพัฒนาการกีฬาของชาติ เพื่อส่งเสริมให้ยุวชน เยาวชน และประชาชนทั่วไป มีนิสัยรักการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาทักษะการเล่นกีฬา โดยสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาศักยภาพนักกีฬา ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกีฬาของประเทศ ซึ่งจะพิจารณาโรงเรียนกีฬานำร่องประเภทต่าง ๆ ตามความถนัดของแต่ละภูมิลำเนา