30 ปีพรีเมียร์ลีกอังกฤษ – ฟื้นจากวิกฤตยุค 80’s สู่กีฬาสุดฮิตในทั่วโลก
ช่วงนี้ความสนใจของชาวโลกมุ่งไปที่อังกฤษ ในช่วงหลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 รวมถึงคอกีฬาทั่วโลก ก็จับตาการเลื่อนและปรับรูปแบบฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษเพื่อรับเหตุการณ์นี้กันทั่วโลก
และในเมื่อ The Reporters เราได้เริ่มบทความชุด “Football 101” ปูพื้นสู่ฟุตบอลโลกที่จะมาถึงในปลายปีนี้มาตั้งแต่ตอนที่แล้วคือ “EP:1 ทีมชาติกับ สโมสร–โลก 2 ใบที่ซ้อนกัน” ที่ thereporters.co/sport/f101-2508222200
ฉะนั้นในตอนนี้เราจะมารู้จักฟุตบอล “พรีเมียร์ลีก” แห่งอังกฤษที่เป็นการแข่งขันฟุตบอลยอดฮิตอันดับหนึ่งของโลก ( ในระดับสโมสร ) กัน
พรีเมียร์ลีก (Premier League) หรือชื่อเต็มๆว่า เอฟเอ พรีเมียร์ลีก (FA Premier League) เป็นรายการแข่งขันฟุตบอลขั้นสูงสุดภายในประเทศอังกฤษ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1992 และบริหารโดยสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ( FA. หรือ Football Association )
เดิมทีก่อนนั้นนับร้อยปี ฟุตบอลรายการนี้ใช้ชื่อว่า “Football League First Division” ( ฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่ง ) และจัดโดยหน่วยงานอื่นคือ “English Football League” ( องค์กรฟุตบอลลีก ) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1888 ( พ.ศ. 2431 ) โดยเป็นการแข่งขันฟุตบอลแบบลีก ( พบกันหมดทุกทีม ) รายการแรกในโลก
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1991 ” ฟุตบอลดิวิชั่น 1 “ ก็สิ้นสุดลง จากการที่นาย Rupert Murdoch ( รูเพิร์ธ เมอร์ด็อก ) มหาเศรษฐีนักธุรกิจสื่อสารรายใหญ่เจ้าของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์สกาย (BSkyB) พยายามผลักดันให้สโมสรฟุตบอลที่จะลงแข่งขันในดิวิชั่นหนึ่งประจำฤดูกาล 1992-93 ถอนตัวออกมาจัดตั้งเป็นพรีเมียร์ลีก
นั่นทำให้ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษที่มีอายุ 103 ปี ต้องจบลง โดยลีกฟุตบอลอังกฤษซึ่งมีทั้งหมด 4 ดิวิชั่น ได้เปลี่ยนแปลงชื่อระบบดิวิชั่นใหม่ โดยลีกสูงสุดชื่อพรีเมียร์ลีก ขณะที่ดิชั่นถัดไป คือ ดิวิชั่น 2 ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “League Championchip” ส่วน ดิวิชั่น 3 ได้เปลี่ยนมาเป็น “League One”แทน และดิวิชั่น 4 ได้เปลี่ยนมาเป็น “League Two” แทน
จากนั้น 20 สโมสรใหญ่ๆในอังกฤษ ที่เล่นในดิวิชั่น 1 เดิม ก็ไปร่วมกันลงนามข้อตกลงภาคีสมาชิกก่อตั้ง(Founder Members Agreement) จัดตั้ง “พรีเมียร์ลีก” ตั้งแต่วันนั้น
ข้อแตกต่างระหว่างพรีเมียร์ลีกกับดิวิชั่น 1 เดิมนั้น คือเม็ดเงินในพรีเมียร์ลีกจะอยู่ในพรีเมียร์ลีกเท่านั้น จากเดิมที่มีการแบ่งสรรให้ดิวิชั่น 2 3 และ 4 ด้วย
นอกจากนั้นพรีเมียร์ลีกก็มีอิสระที่จะเจรจาผลประโยชน์กับผู้สนับสนุน รวมทั้งสิทธิในการขายสิทธิถ่ายทอดโทรทัศน์ของตนเอง แยกขาดจากฟุตบอลลีกเดิม ที่จะเหลือแค่ลีกรองๆ คือ “ลีกแชมเปี้ยนชิพ”, “ลีกวัน”, และ “ลีกทู” ดังที่กล่าวไป
ปีต่อมาคือ 27 พฤษภาคม 1992 พรีเมียร์ลีกจึงก่อตั้งโดยจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท มีสโมสรฟุตบอลสมาชิกทั้ง 20 แห่งเป็นหุ้นส่วน ความเป็นหุ้นส่วนจึงขึ้นอยู่กับผลการแข่งขันทางสโมสร หากทีมใดยังคงอยู่ในพรีเมียร์ลีกก็จะถือเป็นหุ้นส่วนของพรีเมียร์ลีกต่อไป
และเมื่อจบแต่ละฤดูกาล (ปีการแข่งขัน) สโมสรที่ตกชั้นจะต้องสละสิทธิความเป็นหุ้นส่วน โดยส่งต่อให้กับสโมสรที่เลื่อนชั้นมาจากลีกแชมเปี้ยนชิพ (ดิวิชั่น 2 เดิม)
อีกหุ้นส่วนสำคัญก็คือสมาคมฟุตบอลอังกฤษ โดยถือเป็นหุ้นส่วนหลัก มีอำนาจที่จะคัดค้านในประเด็นสำคัญ เช่น การแต่งตั้งประธานกรรมการและผู้บริหารระดับสูง หลักการเลื่อนชั้นหรือตกชั้นของสโมสรเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิแทรกแซงผลประโยชน์เชิงธุรกิจของแต่ละสโมสร
จากนั้นเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน พรีเมียร์ลีกก็พัฒนาเป็นลีกฟุตบอลภายในประเทศที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะรายได้จากทุกทางเช่น การขายตั๋วเข้าชมในสนาม การขายของที่ระลึก และที่สำคัญที่สุดคือส่วนแบ่งการขายสิทธิถ่ายทอดสดและบันทึกการแข่งขันไปทั่วโลกนั้น ก็แบ่งกันในหมู่ 20 สโมสรนี้เอง จึงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าเดิมมาก
ย้อนปัญหาสมัยยังเป็น “ ดิวิชั่น 1 ”
ย้อนกลับไปช่วงท้ายๆของยุค “ดิวิชั่น 1” สมัยที่ลีกสูงสุดยังไม่ได้เป็นพรีเมียร์ลีกนั้น วงการฟุตบอลอาชีพของอังกฤษกำลังตกต่ำ มีสารพัดปัญหา
ตัวอย่างเช่นอันธพาลลูกหนังหรือที่เรียกว่าฮูลิแกน ( “Hooligan” ) ที่ทำลายภาพลักษณ์ของฟุตบอลอังกฤษอย่างหนัก หลายครั้งทำให้แฟนฟุตบอลไม่สามารถชมการแข่งขันได้อย่างสงบสุข เพราะกลัวจะโดนลูกหลง ทำให้ชาวอังกฤษหลายคนไม่กล้าเดินทางไปเชียร์ในสนาม หรือบางนัดวุ่นวายจนต้องยุติการแข่งขันกลางคัน
นั่นทำให้รายได้ของสโมสรจากค่าผ่านประตูซึ่งเป็นรายได้หลักได้ลดลงอย่างมาก มีเพียงสโมสรชั้นนำไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยังคงมีกำไร ในฤดูกาล 1986-87 ทุกสโมสรฟุตบอลมีกำไรสุทธิรวมเพียง 2.5 ล้านปอนด์พอถึงฤดูกาล 1989-90 รวมทุกสโมสรขาดทุน 11 ล้านปอนด์ ทำให้นายทุนไม่กล้าจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจกีฬาอาชีพนี้อย่างเต็มที่ หลายสโมสรในช่วงนั้นมีข่าวว่าใกล้จะล้มละลาย
ส่วนค่าส่วนแบ่งรายได้จากการถ่ายทอดทีวียุคนั้นก็ยังไม่สูงเท่าไรนัก เพราะยังค่อนข้างจำกัดแค่ในอังกฤษ และเมื่อแฟนบอลในสนามน้อยลง บรรยากาศก็ไม่เร้าใจเท่าเดิม แถมยังมีอันธพาลป่วนการแข่งขัน ความน่าติดตามก็ลดลงแม้จะทางทีวีก็ตาม
บางครั้งความรุนแรงก็บานปลายไปมาก เช่นวันที่ 15 เมษายน 1989 ที่สนามฟุตบอลฮิลส์เบอโรของสโมสรฟุตบอลเชฟฟิลด์เวนส์เดย์ มีผู้คนเหยียบกันเสียชีวิตกว่า 96 คน
และยังมีโศกนาฏกรรมเฮย์เซลที่มีผู้เสียชีวิต 39 คน ทำให้ยูฟ่าสั่งห้ามไม่ให้สโมสรจากอังกฤษเข้าร่วมการแข่งขันชิงถ้วยสโมสรในยุโรปเป็นเวลา 5 ปี
และยังมีเหตุการณ์อื่นๆ เช่นไฟไหม้อัฒจันทร์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1985 ที่สนามฟุตบอลของสโมสรฟุตบอลแบรดฟอร์ดซิตี ในระหว่างการแข่งขัน มีผู้เสียชีวิต 56 คน
ต่อมารัฐบาลอังกฤษจึงตั้งคณะกรรมการมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการฟุตบอลอังกฤษ กำหนดให้ทุกสโมสรต้องปรับปรุงสนามแข่งขัน เช่นอัฒจันทร์ชมการแข่งขันต้องเป็นแบบนั่งทั้งหมด ห้ามไม่ให้มีอัฒจันทร์ยืน เพื่อความปลอดภัยของผู้ชมการแข่งขัน โดยทีมในระดับ 2 ดิวิชั่นแรกเสร็จสิ้นในปี 1994
การปรับปรุงของสโมสรเล็กๆกลางๆส่วนใหญ่นั้น รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งกองทุนฟุตบอล 100 ล้านปอนด์ให้จัดสรรให้สโมสรฟุตบอลทั้งหลายไปพัฒนาปรับปรุงสนามแข่งขัน แต่เมื่อแบ่งแล้วแต่ละสโมสรก็ยังได้น้อยนิด ต้องอาศัยรายได้ของตัวเองเป็นหลัก
ยุคพรีเมียร์ลีก เริ่มต้นสวยด้วยโทรทัศน์
ค.ศ. 1991 ” ฟุตบอลดิวิชั่น 1 “ ก็สิ้นสุดลง จากการที่นาย Rupert Murdoch ( รูเพิร์ธ เมอร์ด็อก ) มหาเศรษฐีนักธุรกิจสื่อสารรายใหญ่เจ้าของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์สกาย (BSkyB) ยื่นข้อเสนอให้สโมสรในดิวิชั่นหนึ่งประจำฤดูกาล 1992-93 ให้ถอนตัวจากสมาชิกฟุตบอลลีกเพื่อมาจัดตั้งเอฟเอพรีเมียร์ลีก
ทั้งนี้ในพรีเมียร์ลีกตั้งแต่แรกถึงทุกวันนี้ มีทีมร่วมแข่งขัน 20 ทีม แข่งขันในระบบพบกันหมด เหย้าและเยือน ทีมชนะได้ 3 คะแนน ( เดิมสมัยดิวิชั่น 1 ชนะได้แค่ 2 คะแนน ) ทีมเสมอได้ 1 คะแนน และทีมแพ้ไม่ได้คะแนน
ตลอดฤดูกาลทุกทีมจะต้องแข่งขันทั้งสิ้น 38 นัด เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 3 สโมสรที่ได้คะแนนน้อยที่สุด จะถูกลดชั้นไปเล่นในฟุตบอลลีกแชมเปี้ยนชิพ ขณะที่ 4 ทีมที่อันดับดีสุดจะได้ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก โดยสองทีมอันดับแรกจะผ่านเข้าไปรอ ในขณะที่ทีมอันดับ 3 และ 4 จะต้องแข่งรอบคัดเลือกอีกทีหนึ่ง ส่วนอันดับ 5-7 จะได้เล่นยูฟ่าคัพ
โดยข้อตกลงใหม่นี้ ทางสถานีขอซื้อสิทธิผูกขาดในการถ่ายทอดการแข่งขันในราคาแพง ทำสัญญาฉบับแรกซื้อสิทธิผูกขาดในการถ่ายทอดการแข่งขันเป็นเวลา 5 ปี (ฤดูกาล 1992-93 ถึง 1996-97) จ่ายค่าตอบแทนให้ 304 ล้านปอนด์
เม็ดเงินนี้สูงมากเมื่อเทียบกับในอดีตที่ฟุตบอลดิวิชั่น 1 เดิมได้รายได้จากการขายสิทธิให้สถานี ITV เพียง44 ล้านปอนด์ตลอดช่วงเวลา 4 ปี … ทั้งนี้ก็ด้วยฝีมือและวิสัยทัศน์ของเจ้าพ่อสื่ออย่าง รูเพิร์ธ เมอร์ด็อกนี่เอง
รายได้เพิ่มมหาศาล
นอกจากรายได้ค่าส่วนแบ่งจากการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกแล้ว รายได้รองๆลงไปก็คือการขายเสื้อทีมซึ่งเปลี่ยนดีไซน์ทุกปีตามฤดูกาลแข่งขัน โดยขายกันได้ปีละเป็นแสนๆหรือถึงล้านตัวทั่วโลกผ่านแบรนด์ดังๆเช่นไนกี้หรืออาดิดาส ในราคาตัวละเฉลี่ยประมาณ 70 – 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ
รายส่วนเสื้อแข่งชุดแข่งนี้ บางสโมสรก็บริหารการขายเอง แต่บางสโมสรก็ “outsource” ธุรกิจขายเสื้อทีมออกไปให้ Nike, Adidas ไปเลย โดยทางสโมสรรับเป็นเงินค่าลิขสิทธิ์ตายตัวแทน
ตัวอย่างเช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคแรกๆของพรีเมียร์ลีก เคยขายสิทธิการขายเสื้อทีมให้กับ Nike ได้เงินก้อนตายตัวไป 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือกว่า 1,400 ล้านบาท
นอกจากนั้น ป้ายโฆษณาบนหน้าอกเสื้อ ก็เป็นอีกรายได้ที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้รับกันมากมายจากแบรนด์ต่างๆที่หวังใช้ช่องทางนี้ไปสู่สายตาคนทั่วโลก ไม่ใช่แค่คนอังกฤษ
ตัวอย่างเช่น Samsung แห่งเกาหลีใต้ที่เคยจ่าย 50 ล้านปอนด์ ( ประมาณ 3,750 ล้านบาท ) “เช่าพื้นที่”หน้าอกเสื้อทีมเชลซีนาน 5 ปี หรือสินค้าไทยอย่าง เบียร์ช้าง ก็เคยลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเป็นแบรนด์ติดอยู่บนหน้าอกเสื้อสโมสรเอฟเวอร์ตันมาแล้ว
และมาถึงยุคปัจจุบัน รายได้ของ 20 ทีม พรีเมียร์ลีกในฤดูแข่งขัน 2021 – 22 ที่ผ่านมา พบว่าทุกทีมได้รับเงินรางวัลของแต่ละอันดับที่ไม่เท่ากันอีกด้วย
โดยแม้แต่ทีมอันดับล่างสุดในลีกอย่าง นอริช ซิตี้ ก็ยังได้รายรวมไปถึง 100 ล้านปอนด์ ( ประมาณ 4.5 พันล้านบาท ) และอีก 2 ทีม “รองบ๊วย” คือ วัตฟอร์ด อันดับ 19 กับ เบิร์นลีย์ อันดับ 18 ก็ยังได้เงินรางวัลไป 104 กับ 106 ล้านปอนด์ตามลำดับ
ส่วนบรรดาทีมท็อปๆในตารางคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นั้นรับรายได้ทั้งฤดุกาลไปรวม 161 ล้านปอนด์หรือประมาณ 7 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับอันดับ 2 ลิเวอร์พูลโดยต่างกันแค่ 2 ล้านปอนด์
ส่วนอันดับ 3 ถึง 6 ก็ได้ไปน้อยกว่าเล็กน้อย เช่น ทอตแนมฮอตสเปอร์ ได้รวม 152 ล้านปอนด์ เชลซี และอาร์เซนอล อันดับ 4 และ 5 ได้ไป 151 ล้านปอนด์ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ไป 150.2 ล้านปอนด์
เปิดกว้างนักเตะต่างชาติ
ในบรรดาการแข่งขันฟุตบอลสโมสรภายในประเทศต่างๆทั่วโลกนั้น พรีเมียร์ลีกอังกฤษ เป็นลีกที่มี “นักเตะต่างชาติ” เล่นอยู่ในสโมสรต่างๆรวมแล้วมากอันดับต้นๆของโลก จากการที่ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษเองก้เปิดกว้างในเรื่องนี้
โดยปัจจุบันกฏเกณฑ์เรื่องนี้ของพรีเมียร์ลีกบังคับไว้แค่ว่าในแต่ละปี (ฤดูกาลแข่งขัน) นั้น สโมสรหนึ่งๆจะมีผู้เล่นรวมไม่เกิน 25 คน โดยในนี้จะต้องมี “ผู้เล่นท้องถิ่น” อย่างน้อย 8 คน อีก 17 คนที่เหลือ จะเป็นผู้เล่นชาติใดก็ได้
และคำว่า “ผู้เล่นท้องถิ่น” ที่ว่านี้ ไม่ต้องมีสัญชาติอังกฤษก็ได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนนักเตะอาชีพอยู่สังกัดสโมสรฟุตบอลในทีมอังกฤษมาแล้วอย่างน้อยครบ 3 ปีตั้งแต่ก่อนอายุ 21 ขวบ นั่นก็คือเคยเป็น “นักเตะเยาวชน” ของทีมอาชีพในอังกฤษมาแล้ว 3 ปีนั่นเอง
บอลอังกฤษ ที่ไม่ใช่แค่ของชาวอังกฤษ ?
ด้วยความเป็นฟุตบอลจากประเทศที่ภาษาเป็นที่ใช้กันแพร่หลาย การโหมขายสิทธิถ่ายทอดสดไปทั่วโลกอย่างหนัก การปฏิรูประบบการเงินและการตลาด การเปิดกว้างรับนักเตะต่างชาติ และอีกหลายๆปัจจัย
ทั้งหมดนี้ทำให้ Premier League เป็นกีฬายอดนิยม ครองสายตาผู้คนทุกสุดสัปดาห์แทบทั้งปี มีผู้คนใส่เสื้อทีมต่างๆไปเดินห้างกินข้าวให้เราเห็นกันทั่วไปแม้กระทั่งในไทย ทำให้เราเรียกได้เต็มปากว่า 30 ปีผ่านไป Premier League ได้กลายเป็น “บอลอังกฤษ ที่ไม่ใช่แค่ของชาวอังกฤษ” ไปแล้ว
แต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือวันที่ 10 และ 11 กันยายน 2022 ฟุตบอลรายการนี้ก็ต้องพักการแข่งขันทั้งหมดไปชั่วคราว เพื่อถวายความอาลัยแก่การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2
แต่การแข่งขันหลังจากนี้ไป ก้จะค่อยๆกลับสู่สภาพปกติ คือจัดเตะเกือบครบทุกคู่ ยกเว้นเพิยงแต่ในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2022 ที่จะมีพระราชพิธีใหญ่ และในสุดสัปดาห์ 17 – 18 กันยายน 2022 บางคู่ที่ต้องใช้ตำรวจดูแลรักษาความปลอดภัยจำนวนมากๆ เช่น แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกับลีดส์ยูไนเต็ด และ บางคู่ที่จัดเตะในลอนดอนเช่น เชลซี กับ ลิเวอร์พูล เท่านั้น
ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นเสมือนการเตือนให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักกันว่าที่จริงแล้ว “พรีเมียร์ลีก” ก็ยังเป็น“ฟุตบอลอังกฤษ” อยู่นั่นเอง
ข้อมูลบางส่วนและภาพประกอบจาก
www.premierleague.com
www.premierleague.com/news/2714336
en.wikipedia.org/wiki/Premier_League
theguardian.com/football/2022/aug/10/thirty-years-premier-league-football-sky-sports
skysports.com/football/news/11095/12432965/premier-league-live-on-sky-sports-chelsea-vs-liverpool-christmas-and-new-year-fixtures-announced