สิงห์ เบเวอเรชเปิดโครงการ “จากโรงงานสู่โรงเรียน”
จับมือม.ศิลปากร
ผลิตโต๊ะเก้าอี้นักเรียนจาก “กากข้าวมอลต์” มอบให้ 15 โรงเรียนใน จ.นครปฐม
บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผุดไอเดียสุดสร้างสรรค์นำกากข้าวมอลต์หรือกากเบียร์ (Spent Grain) มารีไซเคิลผลิตเป็นโต๊ะและเก้าอี้สำหรับนักเรียน โดยได้ร่วมมือกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินการผลิตโต๊ะเก้าอี้นักเรียนจากกากข้าวมอลต์ ที่เป็นของเหลือจากกระบวนการผลิตเบียร์ในโรงงานของ “สิงห์ เบเวอเรช” โดยได้รับการออกแบบตามแนวคิด “วัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์” เพื่อนำไปมอบให้กับโรงเรียนต่าง ๆ 15 แห่ง ในพื้นที่จ.นครปฐม ในโครงการ “จากโรงงานสู่โรงเรียน” นับเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตเบียร์ ให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง เป็นการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าจากของเสียดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทฯในการนำเอาความรู้ ความสามารถ รวมถึงทรัพยากรและเครือข่ายเข้าไปดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด “องค์กร ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน”
สำหรับขั้นตอนการผลิตโต๊ะนักเรียนจากกากข้าวมอลต์ ทางโรงงาน “สิงห์ เบเวอเรช” ได้นำกากข้าวมอลต์ มาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปด้วยการตากแห้งและอัดเป็นแผ่นก่อนส่งมอบให้กับทางคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำไปต่อยอดออกแบบประกอบเป็นโต๊ะเก้าอี้นักเรียน ภายใต้ชื่อรุ่นการผลิตคือ “บางเลน 1” โดยในการผลิตชิ้นส่วนของโต๊ะเก้าอี้จากกากข้าวมอลต์ ยังมีการออกแบบในแนวคิดที่คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้วัสดุให้เหลือเศษน้อยที่สุด มีโครงสร้างเหล็กทำเป็นกรอบปิดขอบไม้เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้วัสดุหลุดรุ่ยเสียหาย เป็นการช่วยยืดอายุการใช้งาน ส่วนการยึดตัววัสดุให้เข้ากับโครงเหล็กใช้สกรูเป็นตัวยึดเพื่อให้ง่ายต่อการประกอบและการบำรุงรักษาซ่อมแซมจากทางโรงเรียน นอกจากนี้โต๊ะและเก้าอี้จากกากข้าวมอลต์ ยังถูกออกแบบให้สามารถวางซ้อนกันได้ เพื่อประหยัดพื้นที่และลดจำนวนเที่ยวในการขนส่งอีกด้วย
ทั้งนี้ “สิงห์ เบเวอเรช” เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตเบียร์สูงและมีการบริหารจัดการเรื่อง By Product Management ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยในการผลิตโต๊ะเก้าอี้นักเรียนจากกากข้าวมอลต์ครั้งนี้ “สิงห์ เบเวอเรช” ได้ร่วมมือกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการออกแบบโต๊ะนักเรียนที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังรวมถึงการต่อยอดไปสู่การร่วมกันพัฒนากากข้าวมอลต์เป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเขียนอื่นๆ ในอนาคต
ในส่วนประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ “จากโรงงานสู่โรงเรียน” นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กากข้าวมอลต์แล้ว ยังเป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ที่จะช่วยปลูกฝังและทำให้เยาวชนหรือคนในชุมชนหันมารู้จักกระบวนการ Upcycling นำของเหลือใช้มาสร้างสรรค์หรือพัฒนาให้เกิดเป็นสินค้าใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งยังเป็นการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเป็นการช่วยดูแลให้โลกของเราสะอาดปลอดจากมลภาวะและสวยงามอีกด้วย
คุณปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่านโยบายขององค์กรต้องการให้ทุกๆ โรงงานเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือดูแลสังคม สร้างคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนในชุมชนโดยรอบโรงงาน โดยมุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นต้นแบบให้ทุกๆ โรงงานในเครือบุญรอดฯทั่วประเทศนำไปพัฒนาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของแต่ละโรงงานแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความสุขให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
ขณะที่ คุณสุชิน อิงคะประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายของบริษัทและของคุณปิติ ภิรมย์ภักดี ต้องการให้ทุกโรงงาน มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสังคมมาปฏิบัติบทบาทการช่วยเหลือดูแลชุมชน “สิงห์ เบเวอเรซ” ในฐานะที่เป็นเจ้าบ้านหรือเป็นหนึ่งในพลเมืองของจ.นครปฐม ได้ระดมบุคคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีทรัพยากร มีเครือข่าย นำมาพัฒนาชุมชนหรือพื้นที่ให้มีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีควบคู่กันไป สำหรับที่มาของโครงการ “จากโรงงานสู่โรงเรียน” เกิดจากการที่ “สิงห์ เบเวอเรช” ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการบริหารจัดการกากของเสียในอุตสาหกรรม จึงได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้และคิดค้นสิ่งประดิษฐ์จากของเหลือใช้ให้เป็นนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสูด เพื่อเป็นการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่อำเภอบางเลนต่อไป
นอกจากการผลิตโต๊ะเก้าอี้นักเรียนจากของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตเบียร์คือกากข้าวมอลต์แล้ว “สิงห์ เบเวอเรช” ยังมีโครงการต่าง ๆ อีกมากมายหลายโครงการ ที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลชุมชนผ่านการนำองค์ความรู้ ทรัพยากรและเครือข่ายที่มีเข้าไปสร้างความสุข ดูแลชุมชนอาทิ โครงการ SMART FARM ที่ “สิงห์ เบเวอเรช” ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จัดทำขึ้น โครงการโรงเรียนเกษตรพอเพียง และโครงการปุ๋ยอินทรีย์จากผักตบชวา ที่ได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.พระนครศรีอยุธยา จัดการสอนวิธีการแปรรูปผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในการเกษตรให้แก่ชาวบ้าน รวมถึงได้ร่วมกับ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี สร้างเครื่องตัดย่อยผักตบชวาเพื่อแปรรูปผักตบชวาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย