พชภ. – กสศ. สนับสนุน 2 เยาวชนหญิงจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้
มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สนับสนุนจิตอาสา 2 เยาวชนหญิง ได้แก่ น.ส.ยุสรอ ดุลย์ธารา อายุ 22 ปี และ น.ส.บุสริน หมัดเร๊ะ อายุ 21 ปี ช่วยเหลือชาวบ้าน จ.ปัตตานี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หลังสร้างความเสียหายตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567
ยุสรอ จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง (มทร.ศรีวิชัย จ.ตรัง) เธอเกิดและเติบโตใน จ.ปัตตานี และได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ จาก กสศ. ปี 2565 ระหว่างที่รอเรียกรับการบรรจุเป็นครู เธอได้รับการชักชวนให้มาทำงานเป็นแอดมินกลุ่ม Community of Rock ของ กสศ.
“ทุนพระกนิษฐาฯ มีโครงการพัฒนานักศึกษาทำให้รู้สึกว่าเราได้รับแล้วเราก็อยากจะเป็นผู้ให้ด้วย จากมือล่างเปลี่ยนมาเป็นมือบน หนูเคยลำบากมาก่อน เรารู้ว่าเขาอยากได้ความช่วยเหลือ หนูได้ไปร่วมกิจกรรมโครงการของมูลนิธิ พชภ. ที่ จ.เชียงราย เป็นโครงการที่ทำให้เราได้เข้าใจตัวเองว่าเราเป็นอย่างไร ได้ทบทวนว่าได้โอกาสมาเยอะมาก ได้เรียน ได้มีความฝัน อยากเป็นคนที่ให้คนอื่น ต้องการช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นด้วย”
ช่วงวิกฤตน้ำท่วมภาคใต้เดือนพฤศจิกายน 2567 ยุสรอกำลังขี่จักรยานยนต์ไปเก็บข้อมูลให้ กสศ. กระแสน้ำบนถนนพัดแรงจนทำให้รถจักรยานยนต์ดับลง แต่มีชาวบ้านเข้ามาช่วยเธอ แม้จะซ่อมไม่ได้และต้องยกรถกลับบ้าน แต่ได้จุดประกายให้ยุสรอตัดสินใจเขียนโครงการจิตอาสาซ่อมรถจักรยานยนต์เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.ปัตตานี
“โครงการที่หนูทำหลังน้ำลด คือการแบ่งเบาเรื่องการซ่อมรถมอไซค์ คนที่ปัตตานีเขาจะใช้มอไซค์เป็นส่วนใหญ่ พอมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมที่สูงทำให้ไปทำงานลำบาก เลยคิดว่าจะชวนน้อง ๆ จากวิทยาลัยมาซ่อม อาจารย์ที่วิทยาลัยบอกว่ามีโครงการเหมือนกัน เลยทำให้น้อง ๆ นักศึกษาได้ออกมาช่วยกันซ่อมมอไซค์ให้ชาวบ้าน”
ยุสรอติดต่อร้านค้าที่ยินดีจำหน่ายน้ำมันเครื่องให้ในราคาส่วนลด รวม 80 ขวด จัดหาอาหารกลางวันและเครื่องดื่มสำหรับบุคลากรที่มาซ่อมรถ 20 คน 1 วัน นอกจากนี้ วิทยาลัยฯ ยังร่วมสนับสนุนน้ำมันเครื่องอีก 100 ขวด จนสามารถเปิดศูนย์ซ่อมได้นาน 1 สัปดาห์ มีรถจักรยานยนต์มาซ่อมไม่ต่ำกว่า 200 คัน
“โครงการซ่อมรถจักรยานยนต์ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมนี้เกิดขึ้นเพราะหนูเคยผ่านความลำบากมากับตัวเอง การจะหาเงินมาใช้จ่ายช่วงน้ำท่วมทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำงานเป็นสัปดาห์ที่ยากจะก้าวผ่านไปได้ หนูเลยอยากจะช่วยแบ่งเบาภาระเขา”
ขณะที่ น.ส.บุสริน เธอเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง มทร.ศรีวิชัย จ.ตรัง ได้รับทุนพระกนิษฐาฯ โดยเขียน 2 โครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคใต้ คือ ปันใจช่วยเหลืออุทกภัย จ.ปัตตานี และ ฟื้นฟูอุทกภัย จ.ปัตตานี
บุสริน รวมตัวเพื่อน 7 คน ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ซื้อน้ำดื่ม 20 โหล ขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง แพ็คเป็นถุงยังชีพมากกว่า 80 ชุด เข้าไปแจกให้กับชาวบ้านที่ประสบภัยตามหมู่บ้านต่าง ๆ
“ที่หนูไปเจอมาคือการแจกถุงยังชีพซ้ำซ้อนกัน บางหมู่บ้านเขารู้สึกว่าการดูแลไม่ทั่วถึง หรือไปแจกซ้ำซ้อนชาวบ้านก็จะต่อว่าผู้ใหญ่บ้านทำให้เขาไม่ลงรอยกันอีก หนูเลยเปลี่ยนเป้าหมายจากการแจกให้ชาวบ้านทั่วไปเป็นการแจกของให้กับผู้ป่วยติดเตียง คือถ้าของมีน้อยแล้วเอาไปแจกในนามผู้ใหญ่บ้านมันจะดูน่าเกลียด เวลาชาวบ้านที่ไม่ได้รับของเขาก็จะต่อว่าผู้ใหญ่บ้าน พอหนูบอกว่าเป็นของที่ไปแจกผู้ป่วยติดเตียงเขาก็ชมว่าขอบคุณที่ไม่ลืมกัน”