เชฟรอน หนุนโมเดล BCG ร่วมเรียนรู้ลงมือทำตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ
นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดกิจกรรม “สุขอาสา” หรือ “We Volunteer” เพื่อสะท้อนจุดยืนการปลูกฝัง “พลังความร่วมมือ” ให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม ล่าสุดนำพนักงานบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รวมไปถึงพนักงานจากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จํากัด (คาลเท็กซ์) และ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) รวมกว่า 80 คน ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ลงมือทำตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ อาสาชาวนามหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่เครือข่ายของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเสริมองค์ความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ให้พนักงานได้ต่อยอดในชีวิตจริงในพื้นที่ของตนเอง และส่งเสริมให้คนไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายชาทิตย์ กล่าวว่า “กิจกรรมในวันนี้ นับเป็นหนึ่งในกิจกรรม ที่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าจิตอาสาเชฟรอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราได้ร่วมเรียนรู้ และลงมือทำมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ “โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดีที่พนักงานหลายคน ได้นำองค์ความรู้จากกิจกรรม ไปลงมือปฏิบัติจริงและออกแบบที่ดินในพื้นที่ของตนเองจนเห็นผลสำเร็จ รวมทั้งนำความรู้เหล่านี้ไปบอกต่อแก่คนรอบข้าง และเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตหลังเกษียณอีกด้วย โดยหลังจากนี้เชฟรอน จะยังคงมุ่งมั่นสานต่อการเรียนรู้ลงมือทำตามแนวทางศาสตร์พระราชา พร้อมปลูกฝังองค์ความรู้สู่การปฏิบัติจริง เพื่อเป็นประโยชน์ให้พนักงานส่งต่อไปถึงสังคมวงกว้าง ตอกย้ำการเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญ ขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ยั่งยืนและดียิ่งขึ้นในอนาคต”
ซึ่งเชฟรอนได้ส่งเสริมแนวคิดนี้ ผ่านการดำเนิน โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มาตลอดระยะเวลา 9 ปี รวมถึงกิจกรรมในครั้งนี้ ได้พาเหล่าจิตอาสามาร่วมเรียนรู้ ลงมือทำที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ อาสาชาวนามหานคร อ.หนองจอก ซึ่งตอบโจทย์โมเดลดังกล่าวในทุกมิติ ทั้งด้านการพัฒนาพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน อีกด้วย
ด้าน นายวรเกียรติ สุจิวโรดม เจ้าของพื้นที่อาสาชาวนามหานคร และผู้อำนวยการ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ อาสาชาวนามหานคร วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า “พื้นที่ของเราตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการนำความรู้วิถีกสิกรรมธรรมชาติ มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ให้ทั้งชุมชนในหนองจอก และทุกคนที่ได้มาเยี่ยมชมพื้นที่ ผลักดันการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเปลี่ยนของเหลือใช้ ให้เป็นประโยชน์ ไปจนถึงสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเราจะไม่ใช้สารเคมีใดๆ อีกทั้งยังมุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร อากาศ และน้ำเพื่อรองรับวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นกระถินเทพา ที่ในอนาคตข้างหน้าจะสามารถ ผลิตออกซิเจนให้คนกรุงเทพถึงแสนคน ซึ่งเป้าหมายของพื้นที่อาสาชาวนามหานคร คือเราอยากเปลี่ยนที่ดินนี้เป็นโอกาส เพื่อสานต่อองค์ความรู้วิถีกสิกรรมธรรมชาติ รวมถึงแบ่งปันให้สังคมนับร้อยนับพัน ได้นำกลับไปสร้างประโยชน์ในพื้นที่ของตนเอง และให้ผู้คนพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะเป็นผลพลอยได้สู่สังคมเราในอนาคต”
กิจกรรมในช่วงเช้าได้เน้นไปที่การจัดการดิน-น้ำ-ป่า ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก ของระบบนิเวศให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ ริ่มต้นจาก “ดิน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเพาะปลูก เพราะหากดินดี การเพาะปลูกจะง่ายขึ้นตามไปด้วย โดยวิทยากรได้สาธิตวิธี “ห่มดิน” ผ่านหลักการ “เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช” เพื่อบำรุงดินให้มีธาตุอาหาร โดยใช้ฟางหรือเศษใบไม้ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติคลุมหน้าดิน จากนั้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไป เพื่อให้อาหารแก่ดิน โดยดินจะปล่อยธาตุอาหารให้พืชต่อไป วิธีการดังกล่าวนอกจากจะเป็นปุ๋ยชั้นดีให้แก่พืชแล้ว ยังช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นของหน้าดินได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการ “คืนชีวิตให้แผ่นดิน” อย่างแท้จริง ต่อด้วย “น้ำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในพื้นที่
ทั้งนี้ปัญหาภัยแล้งอาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก วิทยากรได้มอบความรู้ พร้อมให้จิตอาสาร่วมลงมือขุด“คลองไส้ไก่” ซึ่งเป็นการขุดร่องน้ำในดิน เพื่อกักเก็บน้ำในรูปแบบหลุมขนมครก และกระจายความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณพื้นที่เพาะปลูก โดยจะมีการทำฝายเล็กๆ เป็นระยะ เพื่อชะลอน้ำทำให้น้ำซึมลงสู่ใต้ดินได้มากที่สุด และทำเส้นทางน้ำคดเคี้ยวเพื่อให้ทั้งพื้นที่มีความชุ่มชื้นและช่วยป้องกันน้ำเน่าเสียด้วย สำหรับองค์ประกอบท้ายสุดอย่าง “ป่า” วิทยากรได้นำเสนอการจัดสรรการ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อเป็นทรัพยากรในการดำรงชีวิต และสร้างความร่มเย็น โดยกิจกรรมได้เน้นไปที่การปลูกป่า 5 ระดับแบบกสิกรรมธรรมชาติ ประกอบด้วย ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เลื้อยเรี่ยดิน และไม้ใต้หัว มาปลูกในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเป็นการจำลองระบบนิเวศของป่า ที่ต้นไม้จะช่วยดูแลกันเองตามธรรมชาติ ไปจนถึงเคล็ดลับในการบำรุงต้นไม้ โดยองค์ประกอบทั้งหมด จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับพื้นที่ของเรา