ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจะนำมาดำเนินงานโครงการพัฒนาวัคซีน mRNA รวมถึงการผลิตวัคซีน 10,000 โด๊ส สำหรับทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 – 2 ในกรอบวงเงินจำนวน 400 ล้านบาทนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะให้การทำงานขับเคลื่อนไปข้างหน้า ในขณะที่ภาพใหญ่ของโลกมีวัคซีน 7 ชนิดที่เข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 คือประเทศจีน อเมริกา อังกฤษ เชื่อว่าอย่างน้อยต้นปีหน้าจะมีวัคซีน 1 ชนิดที่เข้าเส้นชัย จะทำให้ทราบว่าภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะต้องสูงระดับใด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับพัฒนาวัคซีนไทย เมื่อทราบระดับภูมิคุ้มกันที่จะทดลองในอาสาสมัครไทยแล้ว คาดว่าจะผลิตในโรงงานของไทยได้ภายในไตรมาส 3 หรือ 4 ปีหน้า คือไบโอเนทเอเชียที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
เมื่อเราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ไทยก็จะสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการส่งข้อมูลให้อย. ตรวจสอบความปลอดภัย การเสนอคณะกรรมการจริยธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเตรียมโรงงานสำหรับผลิตวัคซีน 10,000 โด๊ส เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกกรม ห้องปฏิบัติการ เมื่อกระบวนการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย จึงจะประกาศรับอาสาสมัครทดลองวัคซีน คาดว่าจะประมาณเดือนธันวาคม 2563 โดยจะเร่งในระยะที่ 1 -2 ก่อนคือดูขนาดที่เหมาะสมในคนที่อายุไม่มาก 18 – 55 ปี จำนวน 48 คน เมื่อปลอดภัย จะทดลองในคนอายุ 65 – 75 ปี อีก 48 คน และขนาดที่เหมาะสมสำหรับคนไทย และจะทดลองในระยะที่ 2 อีก 300 คน ถ้าในต้นปีหน้ามีวัคซีนต่างประเทศที่สำเร็จ ไทยอาจไม่ต้องทดลองในระยะที่ 3 เพราะรู้ว่าภูมิจะต้องสูงเท่าไหร่ หากระยะที่ 2 มีภูมิคุ้มกันเท่ากับวัคซีนที่ต่างประเทศผลิตสำเร็จ อย.อาจรับรอง ให้ผลิตได้ 30 ล้านโด๊ส หรือเท่ากับจำนวนที่โรงงานเราสามารถผลิตได้