PUBLIC HEALTH

เตือน โรคที่เกิดจากจากการสูบบุหรี่ รักษาค่อนข้างยาก เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

แนะทางเลือกสำหรับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ ใช้สมุนไพรไทย-ฝังเข็มตามแพทย์แผนจีน กระตุ้นให้อยากสูบบุหรี่ลดลง

วันนี้ (30 พ.ค. 67) นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด การเจ็บป่วยของกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่รักษาค่อนข้างยาก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย แนะนำสมุนไพรหญ้าดอกขาว ซึ่งมีสาระสำคัญที่ทำให้ลิ้นชา หรือลิ้นฝาด ช่วยให้ความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง ปัจจุบันหญ้าดอกขาวถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รูปแบบชาชง วิธีใช้ให้นำหญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 10 นาที ดื่มหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไต เพราะมีโพแทสเซียมสูง และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา คือ ปากแห้ง คอแห้ง

สำหรับมะนาว ถือเป็นสมุนไพรอีกชนิดที่นำมาใช้กรณีอยากบุหรี่ โดยหั่นทั้งเปลือกเป็นชิ้น ๆ พอดีคำ นำมารับประทานเมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ โดยสารสำคัญในมะนาวจะมีผลต่อต่อมรับรส ทำให้การรับรสชาติของบุหรี่ผิดปกติไป จนทำให้ไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่

ด้านศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่นำมาใช้บำบัดผู้ที่ติดบุหรี่คือ ‘การฝังเข็ม’ จากการวิจัยพบว่าการฝังเข็มทำให้เพิ่มสาร serotonin ใน hypothalamus ทำให้เลิกบุหรี่ง่ายขึ้น ทำให้ระดับการทำงานของสารเคมีในร่างกายเป็นปกติ ลดอาการถอนยา และช่วยลดความต้องการสูบบุหรี่ รู้สึกสงบและมีสุขภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการฝังเข็มหรือติดเมล็ดหวางปู่หลิวสิงที่ใบหู หลักการคืออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจะมีเส้นลมปราณที่ผ่านมายังใบหูและกระจายตามจุดสะท้อนบนใบหู จึงสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ซึ่งการฝังเข็มหรือติดเมล็ดหวางปู่หลิวสิงที่ใบหูเพื่อเลิกบุหรี่สัมพันธ์กับการรับรู้รสของผู้ป่วย ทำให้รู้สึกว่าบุหรี่ขม จืด หรือไม่มีรสชาติ ความอยากในการสูบลดลงหรือหายไป ขณะเดียวกันยังมีสมุนไพรจีนบางชนิดที่ช่วยลดความอยากบุหรี่ เช่น ติงเซียง (กานพลู) หวีซินเฉ่า (คาวทอง) และหยางกานจวี๋ (คาโมมายด์) โดยนำมาชงดื่มเป็นชา

สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่คลินิกการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ หรือสอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก ‘กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก’

Related Posts

Send this to a friend