นายกฯ ขอประชาชนอย่ากังวล ยืนยันมีศูนย์แรกรับส่งต่อผู้ป่วย ไม่ให้ตกค้าง ระบุเดินหน้ากระจายวัคซีนให้ครบทุกกลุ่มภายในสิ้นปีนี้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนถึง เรื่องการจัดหาวัคซีน โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดหาว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้น ให้เอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือกเข้ามา เมื่อสอบถามไปยังเอกชน ได้ชี้แจงว่าได้ติดต่อผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศไปแล้ว แต่เรื่องการส่งมอบอาจมีความล่าช้า ซึ่งแต่ละบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแจ้งมาว่าสามารถส่งมอบให้ได้ในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงปลายปี ซึ่งทาง นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย จึงมีความเห็นว่าอาจมีความล่าช้าและ ทับซ้อนกับที่รัฐบาลได้ติดต่อไว้ จึงควรให้ทางรัฐบาลที่ได้ติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศไว้แล้ว นำเข้าน่าจะรวดเร็วกว่า ซึ่งจะเป็นไปตามแผนเดิมคือภายในสิ้นปีนี้จะมีวัคซีนทั้งหมด 100 ล้านโดส
ทั้งนี้ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็ยังคงเดินหน้าตามแผนการจัดหาวัคซีนทางเลือก ที่คณะกรรมการ จัดหาวัคซีนทางเลือกที่มีนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาธร เป็นประธานตามเดิม ทั้งนี้แนวทางการจัดหาวัคซีนยังคงดำเนินการอยู่ และขณะนี้ก็ยังสามารถเจรจานำเข้าวัคซีนได้อีก จึงไม่ได้ปิดกั้น เอกชนสามารถจัดหาได้ ตามกำหนด
ส่วนการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น หมอพร้อมนั้น ขอสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่ารัฐบาลได้เตรียมแผนการฉีดวัคซีนไว้เป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ฉีดให้บุคลากรทางแพทย์ และด่านหน้าในการป้องกันโควิดประมาณ 3 ล้านคน โดยพบว่าตั้งแต่ 28 ก.พ.จนถึงขณะนี้มีการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ไปแล้ว 77 จังหวัด จำนวน 1 ล้าน 2 แสนโดส แบ่งเป็นการฉีดเข็มแรก 1 ล้านคน เข้มที่สอง 2 แสนคน จะดำเนินการฉีดให้ครบ
ระยะที่ 2 ให้ประชาชนสองกลุ่ม จำนวน 16 ล้านคน แบ่งเป็น กลุ่มแรก 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 11.7 ล้านคน กลุ่มที่สองกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วย โรคทางเดินหายใจ เรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน มีประมาณ 4.3 ล้านคน จึงขอให้ประชาชนกลุ่มนี้ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนก่อนกลุ่มอื่น คือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป หรือถ้าไม่มีสมาร์ทโฟน ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ติดต่ออยู่แล้ว ส่วนต่างจังหวัดติดต่อ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และ อสม.ในพื้นที่ โดยกลุ่มนี้จะเริ่มฉีดตั้งแต่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไป คาดว่าจะได้ครบ ภายในสิ้นเดือน ก.ค.
ระยะที่ 3 คือประชาชน ตั้งแต่อายุ 18 ปีเป็นต้นไป ประมาณ 31 ล้านคน ขอให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป และได้รับการฉีดตั้งแต่ สิงหาคม
นายอนุชายังกล่าวถึงข้อกังวลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อที่ยังไม่สามารถหาเตียงหรือเข้ารับการรักษาว่า รัฐบาลพยาบาลหาแนวทางแก้ไข โดยได้ดำเนินการเปิดศูนย์แรกรับที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ กทม. จะเป็นศูนย์บริหารจัดการช่วยเหลือผู้ที่ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ ตกค้างที่บ้าน ไม่สามารถหาเตียง สถานพยาบาลรักษาได้ เมื่อมาแจ้งยังศูนย์แรกรับ เมื่อคัดกรอง และแยกระดับอาการ สีเขียว เหลือง แดง ก่อนส่งต่อไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งจะลดปัญหาผู้ป่วยตกค้างอยู่ที่บ้านได้
ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อคลี่คลายลงไปแล้ว สถานที่ที่ได้จัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ และศูนย์แรกรับจะเปลี่ยนเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยเอกชนก็พร้อมจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์ โดยสนับสนุน เรื่องสถานที่ และระบบการลงทะเบียนให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น