แม่ลูกอ่อนต้องกักตัว สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ผ่าน 6 ข้อปฎิบัติ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีแม่ที่ติดเชื้อ แต่มีอาการไม่รุนแรง หรืออยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังการติดเชื้อว่า ยังสามารถให้นมลูกได้ปกติ ไม่ว่าจะเป็น การให้นมจากเต้า หรือการเก็บสำรองนมแม่
สำหรับแม่ที่มีอาการติดเชื้อและจำเป็นต้องแยกแม่ลูก ควรเก็บสำรองน้ำนมโดยให้คนอื่นเป็นผู้ป้อนแทน แต่หากแม่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรง ต้องแยกแม่และลูก และงดให้นมแม่ แนะนำให้บีบระบายน้ำนมทิ้ง เพื่อให้แม่คงสภาพการมีน้ำนม และสามารถกลับมาให้นมแม่ได้เมื่อมีอาการดีขึ้น หรือหายเป็นปกติ โดยมีหลักต้องปฏิบัติตามการแนะนำ 6 วิธี ดังนี้
1) อาบน้ำหรือเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ำสะอาด
2) ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
3) สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะทำกิจกรรมให้นมลูก
4) งดสัมผัสบริเวณใบหน้าของตนเองและทารก เช่น การหอมแก้ม
5) หาผู้ช่วยหรือญาติที่มีสุขภาพแข็งแรงและทราบวิธีการป้อนนมที่ถูกต้อง โดยปฏิบัติตามวิธีการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด สำหรับทารก ควรใช้ช้อนหรือถ้วยเล็กในการป้อน
6) ทำความสะอาดอุปกรณ์ทันทีหลังให้นมลูกเสร็จ และควรนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อทุกครั้ง แต่หากแม่ติดเชื้อและกินยาต้านไวรัส แนะนำหลีกเลี่ยงการให้นมลูก เนื่องจากยาต้านไวรัสบางชนิดจะถูกขับออกทางน้ำนม เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือ ดารูนาเวียร์ (Darunavir)
อธิบดีกรมอนามัย เพิ่มเติมว่า องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟได้แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้แม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 หรือติดโควิด-19 เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่จำเป็นสำหรับทารก และยังมีภูมิคุ้มกันโรคที่ช่วยปกป้องลูก โดยเฉพาะนมแม่ในระยะแรกคลอด ถือเป็นวัคซีนหยดแรกของลูก เป็นยอดน้ำนมที่เรียกว่า “โคลอสตรัมหรือหัวน้ำนม” อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดไขมันจำเป็นที่ส่งผลต่อสมอง วิตามิน แร่ธาตุครบถ้วน ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค ส่งผลลูกปลอดภัยจากไข้หวัด ปอดอักเสบ และท้องร่วงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต