PUBLIC HEALTH

กรมการแพทย์ แนะ ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีเป็นปัญหาสำคัญ ควรได้รับการดูแลแก้ไข และสร้างความตระหนัก

วันนี้ (27 พ.ย. 66) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผย เนื่องจากความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งควรได้รับการดูแลแก้ไข ดังนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญในนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง ที่จะเกิดต่อเด็ก และสตรีในครอบครัว รวมไปถึงความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็นเดือน “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” สำหรับประเทศไทย

โดยในปีนี้จึงได้จัดกิจกรรม รณรงค์ยุติความรุนแรง ภายใต้สโลแกน “ตัวหนูปลอดภัย บ้านอบอุ่นใจ ไร้ความรุนแรง (Peaceful Homes, Happy Hearts) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ที่จะกระตุ้นเตือนให้เด็กๆ คุณพ่อ คุณแม่ และทุกคนในครอบครัว ให้มีความรู้ และเสริมทักษะที่จะปกป้องคุ้มครองเด็ก ทั้งนี้จากสถิติผู้มารับบริการ ที่ศูนย์พึ่งได้ One Stop Crisis Center : OSCC ที่จัดตั้งโดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในช่วงปี 2564-2566 มีเด็กถูกกระทำความรุนแรงทั้งสิ้น 134 ราย เป็นเด็กผู้ชาย 74 ราย และเด็กผู้หญิง 64 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

นายแพทย์วีรวุฒิ กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น “วันขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล” สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนด ให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือน “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” โดยมีการรณรงค์ตลอดทั้งเดือน เพื่อให้สังคมตระหนัก และป้องกันปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดต่อเด็ก และสตรีในครอบครัว รวมไปถึงความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันยังมีเด็ก และเยาวชนจำนวนมาก ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทางกายและจิตได้อย่างมาก

ด้าน นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในฐานะสถานพยาบาล มีหน้าที่ให้การรักษาพยาบาล และให้ความคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง ได้จัดตั้งศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center : OSCC ) ปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพทั้งภายใน และภายนอกสถาบันฯ ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา พนักงานและเจ้าหน้าที่ตามกฏหมาย ซึ่งมีนักสังคมสงเคราะห์ เป็นผู้จัดการและเป้าหมายสำคัญ คือการดูแลครอบคลุมทุกมิติสุขภาพ รวมทั้งการสงเคราะห์ และคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กด้วย

จากสถิติผู้มารับบริการที่ศูนย์พึ่ง ของสถาบันฯได้ ในช่วงปี 2564-2566 มีเด็กถูกกระทำความรุนแรงทั้งสิ้น 134 ราย เป็นเด็กผู้ชาย 74 ราย และเด็กผู้หญิง 64 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้มีแนวทางการช่วยเหลือ เกี่ยวกับสถานการณ์ ความรุนแรงต่อเด็กและครอบครัว ดังนี้

1.ตรวจร่างกาย และให้การรักษา หากเกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย

2.เข้าสู่กระบวนการของศูนย์พึ่งได้ โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล ร่วมกับสหวิชาชีพนอกโรงพยาบาลและครอบครัว โดยมีนักสังคมสงเคราะห์เป็น Case manager ประเมินความปลอดภัยของเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความรุนแรงซ้ำ

3.ในรายที่แพทย์ประเมินเบื้องต้น ว่าเด็กและครอบครัว ได้รับผลกระทบด้านจิตใจ ให้ส่งประเมินสภาพจิตใจและผลกระทบต่อเหตุการณ์ โดยจิตแพทย์ หากพบความผิดปกติจะทำการ บำบัดรักษาฟื้นฟูเด็ก

4.นักสังคมสงเคราะห์ ประเมินทางสังคม สภาพแวดล้อม ทำงานร่วมกับเด็ก ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน ชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือ จากแพทย์ พยาบาล นักวิชาชีพทั้งภายใน และภายนอกสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เช่น การแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กพ.ศ.2546 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการคุ้มครองเด็ก เพื่อร่วมกันวางแผน ให้การช่วยเหลือ ป้องกันปัญหาความรุนแรง ดำเนินการสงเคราะห์ และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กต่อไป

หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โทร. 1415 ต่อ 3327 หรือ ช่องทางการช่วยเหลือ สายด่วน OSCC : 1300

Related Posts

Send this to a friend