PUBLIC HEALTH

สภาพัฒน์ ชี้ ปัญหาสุขภาพจิตเป็นภัยคุกคามที่ไทยต้องเฝ้าระวัง พบค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับโลก

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เผยคนไทยเผชิญปัญหาสุขภาพจิต (Mental Health) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมจากการทำงานที่หายไป ขณะที่ปัจจัยของปัญหาสุขภาพจิตแตกต่างไปตามวัย เช่น วัยเด็กและเยาวชนมาจากการเรียน ความคาดหวัง สถานะทางการเงินของครอบครัว และการถูก Bully ส่วนวัยสูงอายุมาจากความโดดเดี่ยว และความรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง

สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 โดยช่วงหนึ่งของรายงานแสดงถึงสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ซึ่งพบว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง และมีสัดส่วนของผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก โดยพบว่าอาจมีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเพียง 2.9 ล้านคนเท่านั้น

นอกจากผู้ป่วยจะมีจำนวนมากขึ้นแล้ว ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตยังมีสัดส่วนสูงเช่นกัน โดยข้อมูลจากการประเมินสุขภาพจิตตนเอง (Mental Health Check In) ของกรมสุขภาพจิต ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีผู้เข้ารับการประเมินกว่า 8.5 แสนคน สัดส่วนผู้มีความเครียดสูงอยู่ที่ ร้อยละ 4.5 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 5.8 เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 3.2 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวแย่ลงในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่มีผู้เข้ารับการประเมิน 7.5 แสนคน และพบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.2 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.6

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงแต่กระทบต่อปัญหาสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 พบว่าเฉพาะภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบว่าการมีสุขภาพจิตที่ไม่ดี (Poor Mental Health Days) เพิ่มขึ้น 1 วัน ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงลดลง ร้อยละ 1.84 ต่อปี

สภาพัฒน์ ยังเผยให้เห็นถึงความน่ากังวลของสถานการณ์สุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยากุ้ง โดยข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตายของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2566 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 5,172 คน หรือเท่ากับ 7.9 ต่อประชากรแสนคน เฉลี่ยวันละ 14 คน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 31,110 คน หรือเท่ากับ 47.7 ต่อประชากรแสนคน เฉลี่ยวันละ 85 คน หรือมีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 7 คน ในทุก 2 ชั่วโมง

สำหรับปัญหาสุขภาพจิตของไทยมีความรุนแรงกว่ายอดจำนวนผู้ป่วยที่เห็นมาก ซึ่งหากพิจารณาตามช่วงวัย พบว่ามีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน โดยสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงวัยที่น่าสนใจ และเป็นประสำคัญมีดังนี้

1.วัยเด็กและเยาวชน เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการกลั่นแกล้ง (Bully) ในโรงเรียน และปัญหายาเสพติด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ระยะหลังมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น คือ ปัญหาความเครียด จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตตนเองของกรมสุขภาพจิตในปี 2566 พบว่าเยาวชน ร้อยละ 18.0 มีความเครียดสูง เสี่ยงตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 26.0 และเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย ร้อยละ 12.5

สาเหตุของความเครียดของเยาวชน จากผลสำรวจเยาวชนของคิด for คิดส์ ในปี 2565 พบว่า การเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัว เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยเกิดความเครียดสูง โดยกลุ่มอายุ 15–18 ปี และ 19-22 ปี มีความเครียดด้านการเรียนและความคาดหวังถึงงานในอนาคตมากที่สุด ร้อยละ 38.4 และ ร้อยละ 60.9 ตามลาดับ ขณะที่กลุ่มอายุ 23–25 ปี พบว่ามีปัจจัยด้านการเงินของครอบครัวที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุด ร้อยละ 67.1

2.วัยทำงาน เป็นวัยที่มีสาเหตุมาจากความเครียดจากการทำงาน ติดสุรา การใช้สารเสพติด และปัญหาจากการดำรงชีพ ทั้งเรื่องหนี้สินครัวเรือน การว่างงาน การขาดรายได้ ทำให้เผชิญสภาวะกดดันหลายด้าน โดยปัจจัยสาคัญ คือ การทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการทำงาน ซึ่งจากการจัดอันดับของบริษัท Kisi ในปี 2565 พบว่า กรุงเทพฯ จัดอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 100 เมืองของประเทศทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป (Most Overworked Cities) และมีพนักงานประจำกว่าร้อยละ 15.1 ทำงานล่วงเวลามากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ปัจจุบันข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิตปี 2566 พบว่า วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานมากถึง 5,989 สาย จาก 8,009 สาย ซึ่งหากภาวะเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง จะทำให้ปัญหาสุขภาพร่างกายรุนแรงมากขึ้นตาม รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

3.ผู้สูงวัยเป็นวัยที่ต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยว สูญเสียคุณค่าในตนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม ซึ่งข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2565 มีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นมาก โดยมีสัดส่วนร้อยละ 28.1 ของผู้สูงอายุทั้งหมด อีกทั้งยังมีผู้สูงอายุอีก 8 แสนคน ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับภาวะความจำเสื่อม ซึ่งในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 90.0 มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นร่วมด้วย

จากปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวต้องเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ขณะที่สถาบันการศึกษาต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือนักเรียน ส่วนสถานที่ทำงานต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี และสถาบันชุมชนต้องส่งเสริมการพัฒนาและจัดบริการสุขภาพจิตในชุมชน

ด้านการรักษาจำเป็นต้องเพิ่มและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยและสอดคล้องกับทุกช่วงวัย ส่งเสริมให้มีคลินิกจิตเวชระดับชุมชนเชิงรุกมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีการติดตามและฟื้นฟูเยียวยา โดยจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุม เร่งรัดติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงให้ได้รับการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการมีงานทำของผู้ป่วย รวมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนและสังคมในการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านสุขภาพจิต อันเป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าสังคม สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้

Related Posts

Send this to a friend