กรมควบคุมโรค เผยผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น

ชี้สายพันธุ์ย่อยของ XBB.1 อาการไม่รุนแรง แต่แพร่เชื้อง่าย ย้ำกลุ่มเปราะบางเฝ้าระวัง แนะสวมหน้ากากป้องกัน
วันนี้ (27 เม.ย. 67) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายกรมควบคุมโรคติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่อง พร้อมกำชับทุกหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยช่วงวันที่ 21-27 เม.ย. 67 พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,672 ราย เฉลี่ย 239 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 390 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 148 ราย และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยังเป็นไปตามคาดการณ์
ทั้งนี้ โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี และยังเป็นโรคประจำฤดูกาล พบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝน ไม่ต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ทั้งไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี เป็นต้น แต่ความรุนแรงของโควิด-19 ลดลงอย่างมาก จากการวิเคราะห์ข้อมูลติดตามย้อนหลังในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราป่วยตายของโรคโควิด-19 ลดลงจาก 0.98% ในปี 2563-2564 เป็น 0.04% ในปี 2567 ซึ่งใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ และต่ำกว่าไข้เลือดออก
นายแพทย์ธงชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น มีการตรวจวินิจฉัยที่ดีขึ้น มียารักษาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรต่าง ๆ รวมทั้งมีวัคซีนป้องกันโรค ประกอบกับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันคือสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1 เป็นลูกหลานของโอมิครอน อาการไม่รุนแรง เป็นเหมือนหวัดธรรมดาทั่วไป จึงอาจทำให้ประชาชนไม่ได้ระวัง และแพร่เชื้อต่อกันง่าย สิ่งที่ต้องระวังคือกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากข้อมูลผู้เสียชีวิตทุกรายยังพบว่าเป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปควรเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หากมีอาการคล้ายหวัด ควรตรวจ ATK และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการหายใจลำบาก
สำหรับที่สนใจติดตามข้อมูลสถานการณ์โรค ทั้งโรคโควิด-19 และโรคติดต่อในระบบเฝ้าระวังต่าง ๆ ปัจจุบันกรมควบคุมโรคมีระบบ Digital Disease Surveillance (DDS) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เปิดให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ โดนเข้าไปค้นหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์กรมควบคุมโรค