อธิบดีกรมการแพทย์ เยี่ยมให้กำลังใจแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล หลังเข้ารับการผ่าตัดที่ รพ. เลิดสิน
วันนี้ (25 ต.ค. 66) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ ได้รับมอบหมายจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ให้ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ แรงงานไทยที่บาดเจ็บกลับจากอิสราเอล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา หลังเข้ารับการผ่าตัด ที่โรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญขั้นสูง ในด้านโรคกระดูกและข้อ ซึ่งขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว
แพทย์หญิงอัมพร เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว มีความห่วงใยและสั่งการ ให้มีการดูแล ติดตามแรงงานไทย ที่ประสบกับภาวะอันตรายในอิสราเอล หนึ่งในจำนวนนั้น มีการบาดเจ็บกระดูกสะโพกหัก เนื่องจากตกจากที่สูงระหว่าง การทำงานมารักษาและผ่าตัด ที่สถาบันออร์โธปิดิกส์โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญขั้นสูงในด้านโรคกระดูกและข้อ
ทั้งนี้ผลการผ่าตัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย ผู้ป่วยจะอยู่ในการดูแล และประเมินผลการรักษาอย่างดีต่อเนื่องต่อไป จนระทั่งส่งตัวกลับไปดูแลต่อที่บ้าน สำหรับสภาพจิตใจของผู้ป่วยนั้นทางโรงพยาบาล ได้มีการส่งจิตแพทย์ดูแลรักษา เป็นระยะพบว่าผู้ป่วยมีสภาพจิตใจดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ทุกหน่วยงานดูแล และรักษาสุขภาพคนไทย หากมีปัญหาทางด้านร่างกาย ส่งให้โรงพยาบาลในสังกัดกรม ตามความเชี่ยวชาญ และหากผู้ที่เดินทางกลับมา มีปัญหาสุขภาพจิต จะมีกรมสุขภาพจิตดูแล เพื่อให้ทุกคนกลับสู่ภูมิลำเนาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด
ด้าน นายแพทย์อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า โรงพยาบาลเลิดสินมีการเตรียมพร้อม ของคณะศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ในการดูแลรักษาแรงงานไทยอย่างทันท่วงที ลดการเกิดภาวะทุพพลภาพในอนาคต โดยการการจัดทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมไว้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยาต่างๆ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการนำแรงงานไทย กลับจากอิสราเอลอย่างใกล้ชิด ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็ว และไร้รอยต่อตามมาตรฐาน
สำหรับการรักษา “กระดูกสะโพกหัก” เป็นภาวะที่จำเป็นต้องรักษา โดยเร่งด่วน ส่วนมากเกิดกับผู้สูงอายุที่หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ จำเป็นต้องรักษา ด้วยการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เนื่องจากกระดูกสะโพกตาย วิธีที่รักษากระดูกสะโพกหัก ในผู้สูงอายุที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด หากทิ้งช่วงเวลาในการผ่าตัดนานอาจ มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนกับผู้ป่วยสูง อาทิ ปอดบวม กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ เดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีแผลกดทับ นำไปสู่การเสียชีวิต การผ่าตัดดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาส กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว