กรมการแพทย์ เตือน PM 2.5 เป็นภัยต่อสุขภาพ ทำเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรัง ภูมิแพ้ หอบหืด มะเร็งปอด
วันนี้ (23 พ.ย. 66) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เตือน PM 2.5 ฝุ่นจิ๋ว มลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง หากได้รับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
ทั้งนี้ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ของร่างกายได้หลายระบบ สำหรับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ส่วนผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง ทำให้เกิดอาการกำเริบของโรค เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหอบหืดในคนปกติ รวมทั้งหอบหืดในเด็ก และในระยะยาว จะทำให้สมรรถภาพปอดลดลง นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด พร้อมกันนี้แนะกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศ
นายแพทย์วีรวุฒิ เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศ ที่อันตรายต่อสุขภาพ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ผ่านระบบทางเดินหายใจ หากได้รับอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มาก จะส่งผลกระทบสะสมต่อสุขภาพ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างร้ายแรง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน คือ มีแหล่งสร้างมลพิษทางอากาศ ที่ไม่สามารถควบคุมให้ลดลงได้ เช่น การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ทั้งรถยนต์ใหม่เก่า การเผาป่า การเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการก่อสร้างที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เป็นปัญหาทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง
ด้าน นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า PM 2.5 ทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ด้วยฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้ฝุ่นสามารถเข้าสู่ร่างกาย จากหลอดลมไปหลอดเลือด และกระจายไปส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย เมื่อได้รับเป็นระยะเวลานานจนเกิดการสะสม ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายได้หลายระบบ
สำหรับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ส่วนผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง เกิดอาการกำเริบของโรค เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหอบหืดในคนปกติ รวมทั้งหอบหืดในเด็ก และในระยะยาวจะทำให้สมรรถภาพปอดลดลง จนเกิดเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ในผู้ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง ให้เกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย และระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบ ของอวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ในหญิงตั้งครรภ์ หากสูดดมฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์อีกด้วย
ทั้งนี้สัญญานที่บ่งบอกว่า ร่างกายกำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 คือ มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง ดังนั้นเราควรป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศ หากพบว่า มีอาการผิดปกติของร่างกาย ควรรีบมาพบแพทย์ทันที