กรมควบคุมโรค ชวนลอยกระทงปลอดภัย “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง”
ป้องกันอุบัติเหตุจมน้ำ เผยข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา พบวันลอยกระทงมีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 13 คน
วันนี้ (22 พ.ย. 66) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันลอยกระทง ทุกปีจะเกิดอุบัติเหตุคนจมน้ำเสียชีวิต โดยข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561-2565) ในช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง) มีคนไทยจมน้ำเสียชีวิตถึง 197 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มากถึง 23 คน และเฉพาะวันลอยกระทงวันเดียว มีคนจมน้ำเสียชีวิตรวม 65 คน เฉลี่ยปีละ 13 คน เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลังวันลอยกระทงเพียง 1 วัน ของแต่ละปี จะพบว่ามีการจมน้ำเสียชีวิตสูงมากกว่าวันลอยกระทงถึง 1-2 เท่า กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45 – 59 ปี (ร้อยละ 25.9) เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (ร้อยละ 11.7) และเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง
สาเหตุการจมน้ำที่พบบ่อย คือ การดื่มสุรา การลงไปเก็บเงินในกระทง และการปล่อยให้เด็กลอยกระทงหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง ซึ่งจากข้อมูลในข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury Surveillance: IS) ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้บาดเจ็บจากการจมน้ำและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ถึง ร้อยละ 10.6 ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มอายุ 30-59 ปี
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเน้นย้ำมาตรการสำหรับประชาชนในการป้องกันการจมน้ำเพื่อป้องกันการสูญเสียคนในครอบครัวที่คุณรักจากอุบัติเหตุการจมน้ำ คือ “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” ไม่เมา คือ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันลอยกระทง ไม่เก็บ คือ ไม่แนะนำให้ลงน้ำไปเก็บเหรียญในกระทง และไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด แม้จะลอยในกะละมัง ถังน้ำ หรืออยู่บนฝั่ง เพราะอาจพลัดตกน้ำหรือเสียหลักล้มตกน้ำได้ และหากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่จัดงาน ขอให้ดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่ไปร่วมงานลอยกระทง กำหนดพื้นที่บริเวณจัดงานให้ชัดเจน มีแสงสว่างเพียงพอ มีรั้วหรือสิ่งกั้นขวาง เตรียมอุปกรณ์ชูชีพช่วยเหลือไว้ใกล้แหล่งน้ำเป็นระยะ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ สำหรับเรือโดยสาร ควรเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร และให้มีการสวมใส่ทุกครั้ง และ จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่อง และช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน