คสช. ขานรับข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ขับเคลื่อน 25 มาตรการ รับมือสังคมสูงวัย

ที่ประชุมบอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ขานรับข้อเสนอเชิงนโยบาย “5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ลุยขับเคลื่อน 25 มาตรการรับมือสังคมสูงวัย “เสริมพลังวัยทำงาน-เพิ่มคุณภาพเด็ก-สร้างพลังผู้สูงอายุ-เสริมคุณค่าคนพิการ-เพิ่มความมั่นคงครอบครัว” สอดรับกับทิศทางการดำเนินงานประเด็นด้านอื่นๆ ทั้งสมัชชาสุขภาพฯ ลดโรค NCDs – บุหรี่ไฟฟ้า – หลักประกันรายได้ – พัฒนาประชากร
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม คสช. ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 ซึ่งมีมติรับทราบ ข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ตามที่ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งประกอบด้วยนโยบาย 5 ด้าน 25 มาตรการ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อรับมือสังคมสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทย
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า ความท้าทายของประเทศไทยขณะนี้คือการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยในปี 2567 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 10 ปี หรือในปี 2576 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่แนวโน้มการเกิดใหม่ลดลง และวัยแรงงานก็ลดลงเช่นกัน
ทั้งนี้ พม.ได้พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแล้ว ซึ่งทั้ง 25 มาตรการถือเป็นกรอบการขับเคลื่อนงานที่สำคัญที่ คสช.จะสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนจนเกิดเป็นรูปธรรม
น.ส.นภาพร เมฆาผ่องอำไพ ผู้ตรวจราชการ พม. กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร เป็นการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและสถานการณ์เด็กเกิดใหม่น้อย ซึ่งมีนโยบาย 5 ด้าน รวม 25 มาตรการ ประกอบด้วย
ด้านที่ 1 เสริมพลังวัยทำงาน ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยมาตรการได้แก่ พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน บูรณาการฐานข้อมูล, กระจายงานสู่ชุมชน, ส่งเสริมการออมเพื่ออนาคตและเตรียมการเกษียณ, ส่งเสริมสุขภาพประชากรในวัยทำงาน และส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว
ด้านที่ 2 เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ด้วยมาตรการ ได้แก่ ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา, ดูแลสุขภาพกายและใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์, ศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้านรับเด็กอายุน้อยลง ชุมชนช่วยจัดการ, พัฒนาทักษะชีวิตและวิชาชีพสอดคล้องกับบริบทสังคม และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ด้านที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส ด้วยมาตรการ ได้แก่ ป้องกันโรคมากกว่าการรักษา เสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์, ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน, ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกิจวัตรประจำวัน และเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้สูงอายุ
ด้านที่ 4 เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการด้วยมาตรการ ได้แก่ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการ, เข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน, ป้องกันการพิการตั้งแต่กำเนิดและทุกช่วงวัย, เสริมสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนพิการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ และจัดทำฐานข้อมูลคนพิการเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
ด้านที่ 5 สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ด้วยมาตรการ ได้แก่ พัฒนาระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึงโดยรัฐ, ชุมชนน่าอยู่สำหรับทุกคน, บ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย เข้าถึงได้ อยู่อย่างปลอดภัย, ส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียม และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ส่งเสริม Green Economy
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนานโยบายสาธารณะผ่านมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งมติ 15.3 หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ หรือมติ 16.3 การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ สอดรับกับทิศทางข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร