แอสตร้า เผยผลการศึกษาการใช้จริงในไทย พบเข็ม 4 มีประสิทธิผลป้องกันโอมิครอน ถึง 73%
แอสตร้า เซนเนก้า เผยแพร่เอกสารผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทีมวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และคณะ ซึ่งพบว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่สี่ทุกชนิดที่ทำการศึกษามีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนสูงถึง 75% (VE 75%, 95% CI 71-80%) โดยประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้านั้นอยู่ที่ 73% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับวัคซีน mRNA อื่นๆ ที่ทำการศึกษาในงานวิจัยนี้ซึ่งมีค่าประสิทธิผลอยู่ที่ 71% (VE 71%, 95% CI 59-79%) โดยประสิทธิผลของวัคซีนดังกล่าวถูกปรับเพื่อขจัดอิทธิพลจากตัวแปรต่างๆ ได้แก่ อายุ เพศ เวลาการรับวัคซีนตามปฏิทิน และประเภทของสูตรวัคซีนที่ได้รับก่อนหน้า
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. ดร. สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่สำคัญว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่สี่ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม มีประสิทธิผลในการช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นสิ่งสําคัญอย่างยิ่งสําหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังสนับสนุนประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนในแบบสูตรไขว้ต่างๆ หรือแบบ ‘มิกซ์แอนด์แมตช์’(mix and match) ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากขึ้นในประชากรทั่วไป”
มร. จอห์น เปเรซ รองประธานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาขั้นสุดท้าย ฝ่ายวัคซีนและภูมิคุ้มกันบำบัด แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวเสริมว่า “ข้อมูลล่าสุดนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความสําคัญของวัคซีนเข็มกระตุ้นในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในสายพันธุ์ที่แตกต่างออกไป จากประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต ตอนนี้เราทราบแล้วว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ดีพอสมควร เมื่อได้รับเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สี่ ซึ่งจะให้ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สูงกว่าหลังจากรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สาม”
นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นจากโรงพยาบาลรายงานประสิทธิผลของวัคซีนต่ออาการป่วยรุนแรงจากโควิด-19 (ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ) และการเสียชีวิตในช่วงการระบาดหนักของสายพันธุ์โอมิครอน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2565 พบว่าการได้รับวัคซีนแบบสูตรไขว้สามเข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงหรือการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ 98% ในประชากรทุกช่วงอายุที่ศึกษา และมีการเสียชีวิตเพียงรายเดียวในผู้ป่วยที่มีโรคประจําตัวหลังการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สี่ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงประสิทธิผลในระดับสูงมากของวัคซีน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลชุดนี้กําลังอยู่ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และจะมีการรายงานผลสรุปทั้งหมดในภายหลัง
การศึกษาดังกล่าวรายงานประสิทธิผลจากการใช้จริงของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า, วัคซีน CoronaVac และวัคซีน mRNA โดยใช้ข้อมูลจากเครือข่ายการเฝ้าระวังจากหน่วยตรวจเชิงรุกในพื้นที่ ซึ่งช่วยให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่ได้ทั้งในช่วงเวลาที่มีอัตราการระบาดสูงของทั้งสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์โอมิครอน