สธ. ห้าม รพ.เอกชนปฏิเสธการรักษา-เรียกเก็บเงินผู้ป่วยโควิด
ย้ำ ยังต้องยึดประกาศเดิมของกระทรวง ฝ่าฝืน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วันนี้ (19 ก.พ. 65) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับสิทธิการรักษาของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ขณะที่ปัจจุบันเริ่มพบปัญหาสถานพยาบาลเอกชนบางแห่ง มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือญาติ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขอชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 แต่อย่างใด
นพ.ธเรศ ย้ำว่า หากสถานพยาบาลเอกชนมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโควิด-19 หรือญาติ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกประกาศฉบับเดิม ถือว่าเป็นการกระทำผิดพรบ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการเปลี่ยนแปลง หรือออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่นั้น นพ.ธเรศ กล่าวว่า จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกับกองทุนสุขภาพทั้ง 4 กองทุน คือ กรมบัญชีกลาง , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลตามสิทธิผู้ป่วยและสถานพยาบาลภาครัฐ ในการรองรับผู้ป่วยตามสิทธิ หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาไร้สิทธิหรือสถานะได้อย่างเต็มศักยภาพ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการจัดทำ UCEP Plus ขึ้น เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ โดยจะกำหนดให้ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤติเข้าข่ายสีเหลือง หรือสีแดง อาทิ ผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจซึ่งต้องใช้ออกซิเจน หรือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU) สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลทุกแห่ง ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือสีเขียว ก็จะมีการสนับสนุนให้รักษาแบบกักตัวอยู่ ณ ที่พัก (Home Isolation) กักตัวในชุมชน (Community Isolation) หรือสถานที่กักตัวในโรงแรม (Hotel Isolation)