กรมการแพทย์ ร่วมกับ กทปส. จัดทำภาพยนตร์สั้น ให้ความรู้ด้านสุขภาพ และ ‘ดีเอ็มเอส เทเลเมดิซีน’

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ดำเนินโครงการ “ความเข้าใจบริการโทรเวชกรรม และการพัฒนาสื่อเพิ่มความรอบรู้ทางสุขภาพของประชาชน เรื่องโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อน ตามภารกิจกรมการแพทย์” จัดทำภาพยนตร์สั้น เพื่อให้ความรู้ทางสุขภาพในเรื่องโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อนที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ให้แก่ประชาชน ครอบคลุมทั้งการให้บริการด้วยระบบโทรเวชกรรมและการบริการของโรงพยาบาล
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้ดูแลโครงการฯ กล่าวว่า ดีเอ็มเอส เทเลเมดิซีน (DMS Telemedicine) หรือ โทรเวชกรรม เป็นที่รู้จักและนิยมในช่วงโควิด-19 เพื่อใช้ติดตามดูแลอาการผู้ป่วย ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ สามารถประยุกต์ใช้กับโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และความยุ่งยากจากการที่ต้องรอคิวรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ทั้งนี้ กรมการแพทย์ตั้งใจจะให้บริการโทรเวชกรรมเข้าถึงประชาชนและใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย จึงวางแผนจัดทำโครงการเพื่อสื่อสารกับสาธารณะให้รับรู้ เข้าใจ และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.พนม คลี่ฉายา ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยโครงการ กล่าวถึงแนวคิดในการจัดทำภาพยนตร์ โดยยึดหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ
1.ต้องช่วยแก้ปัญหา (Solution) ให้ผู้ชม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยจากโรคยุ่งยากซับซ้อน หรือช่วยลดความเสี่ยงของคนที่ยังไม่เป็นโรค และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำภาพยนตร์มีเนื้อหาที่ตอบโจทย์ เข้าใจปัญหา และความต้องการของผู้ป่วยมากที่สุด จึงสัมภาษณ์เชิงลึก พร้อมสำรวจสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพโทรเวชกรรมในภาพรวมทั่วประเทศ นำข้อมูลมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้น
2.ต้องมีเสน่ห์ น่าติดตามชม (Aesthetic) สร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) และกระตุ้นให้ปฏิบัติ (Call for Action) ด้วยการแปลงเนื้อหาความรู้ทางการแพทย์ให้เข้าใจง่าย สอดคล้องกับความต้องการ ตรงกลุ่มเป้าหมาย สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชม และจบเรื่องด้วยการกระตุ้นให้ทำทันทีด้วยการให้ข้อมูลการเข้าถึงบริการโทรเวชกรรม
3.ต้องถูกต้อง (Validity) ตามหลักการแพทย์ โดยจะตรวจสอบเรื่องราว บทบรรยาย ภาพ เสียง เทคนิค การตัดต่อ จากแพทย์ที่ปรึกษาโครงการ และต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ กทปส.ก่อนเผยแพร่ โดยนำข้อมูลจากงานวิจัยมาพัฒนาเป็นภาพยนตร์ เช่น นำเสนอการอยู่ร่วมกับมะเร็งอย่างเข้าใจ เสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย
นอกจากนี้ยังนำเสนอเนื้อหาการโน้มน้าวให้ผู้ป่วยตัดสินใจที่จะเข้าสู่กระบวนการรักษา เปลี่ยนมุมมองของสังคมและคนรอบข้างที่มีต่อผู้เสพยา ต้องให้กำลังใจ และให้โอกาส พร้อมแนะวิธีดูแล เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเสพยาอีก