PUBLIC HEALTH

สาธารณสุข เตือนอย่าหลงเชื่อ ไปตรวจภูมิคุ้มกันด้วย Rapid Test หลังฉีดวัคซีนโควิด

กระทรวงสาธารณสุข เตือน อย่าหลงเชื่อข้อมูลแชร์ในโซเชียล ฉีดวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค แล้วภูมิไม่ขึ้น ชี้ ชุดตรวจเร็วหลายชนิดใช้ตรวจภูมิคุ้มกันกรณีฉีดวัคซีนไม่ได้ ต้องตรวจด้วยวิธีเฉพาะ ซึ่งวิธีที่ดูความสามารถในการกำจัดเชื้อต้องทำในห้องปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 ยืนยันฉีดวัคซีนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ได้

วันนี้ (18 เม.ย. 64) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวกรณีโซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลว่าฉีดวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค ครบ 2 เข็มแล้วตรวจด้วยชุดตรวจเร็ว (Rapid Test) ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น ว่า การตรวจด้วยชุดตรวจเร็วบางชนิดเป็นการตรวจปลอกหุ้มสารพันธุกรรม (Neucleocapsid protein) จะไม่สามารถตรวจพบได้ การตรวจภูมิคุ้มกันต้องใช้วิธีตรวจที่เฉพาะต่อ spike protein วิธีหนึ่งที่เป็นมาตรฐาน คือ PRNT (Plaque Reduction Neutralization Test) โดยการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโคโรนาไวรัส และต้องตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 โดยนำน้ำเหลือง (serum) ของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาใส่ในจานเพาะเชื้อที่มีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่าง ๆ และเจือจางเลือดลงครั้งละเท่าตัว จนถึงจุดที่สามารถทำลายเชื้อไวรัสลงครึ่งหนึ่ง จะเป็นจุดที่บ่งบอกระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจภูมิคุ้มกันต่อ spike protein ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประมาณ 15 วันหลังฉีดครบ 2 เข็ม ก็พบว่ามีภูมิคุ้มกันขึ้น และผลตรวจของตนเองหลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม 14 วัน พบว่า มีระดับภูมิคุ้มกันสามารถทำลายไวรัสสายพันธุ์ที่พบแรกๆ ในประเทศตั้งแต่เริ่มมีการระบาด มีระดับสูงถึง 115 สายพันธุ์อู่ฮั่นระดับภูมิคุ้มกันสูง 85 และสายพันธุ์ที่ระบาดช่วงเดือนมกราคม 2564 สูง 90

ส่วนระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ G ที่กำลังระบาดทั่วโลกลดลงอยู่ที่ 40-50 ซึ่งยังสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ และระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่บริษัทซิโนแวคได้วิจัยเพื่อยื่นขอทะเบียนที่หลังฉีด2 เข็ม มีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 24  รวมทั้งงานวิจัยของประเทศชิลีพบว่าหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เดือนภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยหลังฉีด 14 วันระดับภูมิคุ้มกันสูงร้อยละ 47.8, หลังฉีด 28 วัน และหลังฉีด 42 วัน ร้อยละ 95.6 เท่ากัน โดยมีระดับภูมิคุ้มกันสูงเป็นพัน เป็นข้อยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค และอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยระดับภูมิคุ้มกันโรคในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในคนไทย

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับเครือข่าย เฝ้าระวัง ติดตามการกลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกาใต้ บราซิล แคลิฟอร์เนีย ไนจีเรีย และล่าสุดคือสายพันธุ์อินเดีย B1.617 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่ง คือ E484 และ L452 ขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าการกลายพันธุ์เกี่ยวข้องการการระบาดที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ ทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ และวัคซีนสามารถป้องกันได้หรือไม่

Related Posts

Send this to a friend