โรงพยาบาลราชวิถีทำสำเร็จ ปลูกถ่าย ‘ตับพร้อมไต’ สำเร็จเป็นรายแรก

วันนี้ (17 ม.ค. 67) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะอวัยวะล้มเหลว ได้แก่ หัวใจ ปอด หรือตับ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตสูงมาก บางรายจำเป็นต้องรักษาตัวในหอผู้ป่วย ICU ซึ่งการปลูกถ่ายอวัยวะอาจเป็นทางรอดเดียว โดยผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย การปลูกถ่ายไตจะช่วยให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้อง และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลับมาใกล้เคียงประชากรปกติมากที่สุด
สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ซับซ้อนมากกว่า 1 อวัยวะพร้อมกันให้แก่ผู้ป่วยหนึ่งราย จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างทีมสหสาขาในการเตรียมผู้ป่วยก่อนรับอวัยวะ ทีมช่วยผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลานานกว่า 8-10 ชั่วโมง และทีมดูแลหลังผ่าตัดเพื่อให้อวัยวะปลูกถ่ายทำงานได้ดีที่สุดและป้องการเกิดภาวะแทรกซ้อน ต้องตรวจติดตามไปตลอดชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถีเริ่มปลูกถ่ายอวัยวะตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 และเป็นโรงพยาบาลแรกในไทยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายมากกว่า 1 อวัยวะ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว จำนวน 471 ราย แบ่งเป็น ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 56 ราย ผ่าตัดปลูกถ่ายไต 373 ราย และผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 42 ราย
นพ.วรพจน์ ชุณหคล้าย ประธานศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ทีมแพทย์โรงพยาบาลราชวิถีผ่าตัดปลูกถ่าย 2 อวัยวะ คือ ตับพร้อมไต ในผู้ป่วยหญิงอายุ 54 ปี ผู้ป่วยลงทะเบียนรอรับอวัยวะตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2566 จนมีผู้บริจาคอวัยวะที่มีความเข้ากันได้ จึงผ่าตัดปลูกถ่ายตับและไตให้กับผู้ป่วยใหม่ ถือเป็นรายแรกของโรงพยาบาลในกรมการแพทย์ ใช้ระยะเวลามากกว่า 12 ชั่วโมง ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้บริจาคอวัยวะและครอบครัวที่ร่วมสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่ ถือเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นและเป็นการสร้างประโยชน์อย่างสูงสุด