สธ. กลาโหม กทม. ตั้งคณะอนุฯ 3 ชุด รุกงาน 30 บาทอัพเกรด
สธ. กลาโหม กทม. ตั้งคณะอนุฯ 3 ชุด รุกงาน 30 บาทอัพเกรด เดินหน้า 1 จังหวัด 1 ค่ายทหารสุขภาพดี ร่วมบำบัดจิตเวช-ยาเสพติด
วันนี้ (16 ม.ค. 67) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ (30 บาทอัพเกรด) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.ร.อ.สุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าร่วม
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก หลังจากลงนามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 โดยมีตนเองและนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษา และมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้แต่งตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือการทำงานระหว่างกระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ของรัฐบาลใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.นโยบายโรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล มี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อจัดทำแนวทางบริหารและพัฒนาหน่วยบริการที่ใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ทหาร รวมถึงแนวทางพัฒนาระบบบริการรองรับนโยบาย โดยจะจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลประจำเขตดอนเมือง คือ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) ให้แล้วเสร็จใน 60 วัน หรือวันที่ 15 มี.ค. 67
2.การขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อจัดทำแนวทางเชื่อมโยงระบบข้อมูล รวมถึงกำกับติดตาม แก้ไขปัญหาอุปสรรคการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ซึ่งจะเดินหน้าระยะที่สองในอีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา โดยหน่วยบริการสังกัดกระทรวงกลาโหมจะเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการบริการมากขึ้น
3.ระบบการดูแลสุขภาพจิต/ยาเสพติด ค่ายทหารสุขภาพดี และการจัดระบบบริการทางการแพทย์ร่วมกันในเขตสุขภาพ (One Region One Hospital) มี นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยใช้สถานที่ในค่ายทหารรองรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล แต่ยังไม่พร้อมกลับสู่ครอบครัว สังคม และชุมชน โดยทหารทำหน้าที่เสมือนญาติ ดูแลเตรียมพร้อมก่อนกลับคืนสู่สังคม และใช้โรงพยาบาลค่ายและค่ายทหาร เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมบางส่วนของระบบการบำบัดรักษาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx)
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมรายงานสถานการณ์สุขภาพกำลังพลกองทัพบกประเทศไทย (2560-2564) พบว่า ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 44 อัตราความชุกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น ทั้งไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน จึงเห็นชอบแนวทาง “1 จังหวัด 1 ค่ายทหารสุขภาพดี” จัดตั้งองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพในค่ายทหารทั่วประเทศ ส่งเสริม ป้องกัน และรักษาโรค โดยใช้ระบบประเมิน ปรับเปลี่ยน ติดตาม รักษาตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต และสร้างสิ่งแวดล้อมภายในค่ายทหารเพื่อเอื้อต่อสุขภาวะที่ดี