ศิริราช เสวนาขับเคลื่อนการแก้ปัญหา PM 2.5 ชี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร จัดเวทีเสวนา “ศิริราชใส่ใจคุณทุกลมหายใจ” ซึ่งมีประเด็นต่าง ๆ จากหลากหลายหน่วยงานในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนให้มีเครือข่ายที่หลากหลายในการร่วมกันแก้ไขปัญหา PM 2.5 ทั้งด้านกฎหมาย การขับเคลื่อนภาคประชาสังคม และการเสริมสร้างวิธีการที่ลดปัญหา เช่น การเผาป่า หรือปัญหาในสังคมเมืองจากมลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงยานยนต์ รวมถึงดำเนินการโรงเรียนสู้ฝุ่น ซึ่งเรื่องฝุ่นไม่ใช่เรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข หรือกรมตำรวจ แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ทั่วประเทศมีถึง 11 ล้านคนได้รับผลกระทบ จากฝุ่นละออง PM 2.5 ปัญหาส่วนใหญ่ในสังคมเมืองเกิดจากการก่อสร้าง การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมถึงปัญหาโลกเดือด ศิริราชจึงเป็นส่วนนึงของเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ปัญหา PM 2.5 โดยหวังว่าจะเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจริงจัง รวมถึงแก้ไขปัญหาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืน ใช้กฎหมายอย่างเข็มแข็ง
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการพิจารณารายละเอียดมาตราในร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยพิจารณาจากผู้ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงการจัดการปัญหาข้ามพรมแดน โดย PM 2.5 เป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ไทยมีสิทธิในการทวงคืนอากาศสะอาด เพราะอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับตั้งแต่แรกคลอด
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ผลของมลพิษในอากาศ (PM 2.5, SO2 และ CO) ส่งผลให้มีการเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดและปอดอักเสบเพิ่มขึ้น เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลการกำเริบของโรคถุงลมโป่งพองโดยการ mapping กับค่าฝุ่นละออง พบว่าสอดคล้องกัน ในกรุงเทพมหานคร เมื่อศึกษาข้อมูลย้อนหลังแต่ละเขต พบว่าเขตเมืองชั้นใน เช่น เขตปทุมวัน เขตดินแดง มีวันที่อากาศอยู่ในระดับสีแดงเฉลี่ยประมาณ 2-3 เดือน ปัญหาเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง ทำให้สัมผัสปัจจัยเลี่ยงอย่างต่อเนื่อง คนรุ่นต่อไปต้องอยู่กับสิ่งที่เราสร้างไว้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด จึงเป็นแผนแม่บทในการควบคุมมลพิษทางอากาศ
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงเนื้อปอด โดยผ่านการคัดกรองของปอดจนเข้าสู่หลอดเลือด ทันทีที่เข้าสู่หลอดเลือด จะเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ และก่อให้เกิดการอักเสบ เมื่ออักเสบเรื้อรัง จะส่งผลกระทบต่ออวัยวะนั้น ๆ ปัจจุบันคนไข้มะเร็งปอดที่ไม่ได้สูบบุหรี่ พบสูงเป็นอันดับ 5 และจากการศึกษาพบว่า การอาศัยในพื้นที่ที่มี PM 2.5 สูง อัตราการตายสูง
รศ.ดร.สุวิมล กาญจนสุธา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การหาค่า AQI ของแต่ละประเทศ จะใช้วิธีที่ต่างกันในรายละเอียด เช่น ชนิดและจํานวนสารมลพิษ การแบ่งช่วงชั้นที่จะก่อผลกระทบ การกําหนดสีของแต่ละช่วงชั้น ค่ามาตรฐานของสารมลพิษ โดยค่า AQHI จะนำผลกระทบทางสุขภาพเข้ามาวิเคราะห์และนำเสนอ ดัชนีซึ่งมีการอ้างอิงต่อสุขภาพ ถึงเวลาให้ทางเลือกข้อมูลความเสี่ยงเชิงสุขภาพให้แก่ประชาชนหรือยัง
น.ส.วรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในปี 2566 มีวันที่ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน จำนวน 144 วัน ในด้านการแก้ไขปัญหา กทม.มีแผนเฝ้าระวัง และกำกับต้นต่อของการเกิดฝุ่นละออง ทั้งด้านการแจ้งเตือนค่าฝุ่นละอองสูง ผ่านทาง LINE และการควบคุมสถานประกอบการ พื้นที่ก่อสร้าง วัด ศาลเจ้า ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง รวมถึงดำเนินการทางกฎหมาย โดยอ้างอิงตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข
ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเผชิญปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่องในทุกปี ซึ่งสาเหตุของฝุ่นละออง พบว่า เกิดจากการเผาป่า ในพื้นที่ดอยหลวง แม่ปิง สาละวิน โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอุทยานแม่ปิง อมก๋อย แม่ตื่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคนลักลอบจุดไฟเผาป่าเพื่อไล่ตอนสัตว์ป่า ทั้งนี้ ปัญหาไฟป่าเข้าไปพัวพันกับหลายเรื่อง รวมถึงปัญหายาเสพติด จึงต้องร่วมมือกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครองแก้ปัญหา จากความร่วมมือทุกภาคส่วน ภาคเหนือปีนี้ดีกว่าที่ผ่านมา จากการอาศัยความเข้มแข็งของชุมชน และการสนับสนุนของรัฐบาล
ศ. (วุฒิคุณ) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กล่าวว่า สสส. ยึดหลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ได้แก่ การเสนอนโยบาย พัฒนางานวิชาการ และหนุนเสริมประชาสังคม ซึ่งดำเนินการโดย 4 พลัง ประกอบด้วย
1.พลังนโยบาย ซึ่งไม่ได้เพียงแต่ภาครัฐ แต่รวมถึงทุกบริบททางสังคมในการขับเคลื่อน พ.ร.บ.อากาศสะอาด
2.พลังสังคม สสส.สนับสนุนโครงการและเครือข่ายประชาชนให้ขับเคลื่อนพลังสังคม เช่น เครือข่ายสภาลมหายใจ รวมถึงโครงการต่าง ๆ เช่น ห้องเรียนสู้ฝุ่น ป่าชุมชน โครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง
3.พลังปัญญา การร่วมมือจากสถานศึกษา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ
4.สื่อสารสังคม สสส.พัฒนาสื่อความรู้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบ