ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ จัดค่ายผู้ป่วยโรคลมชัก หวังสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย
ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมค่ายผู้ป่วยโรคลมชัก ครั้งที่ 12 ในหัวข้อ “ใช้ชีวิตฮื้อมีความสุขกับโรคลมชัก” ในวันที่ 23 มีนาคมที่จะถึงนี้ ณ ห้องประชุมแอนโดรมีดา อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคลมชักเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ว่าจะมีการรักษาจากต้นสังกัดในจังหวัดใด รวมทั้งสามารถให้ผู้ปกครอง หรือผู้เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคลมชักและการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมให้กับคนในสังคม
โรคลมชักเป็นโรคทางสมองที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย สาเหตุมีหลายประการ สามารถควบคุมและรักษาให้หายขาดได้ แต่เนื่องจากความไม่เข้าใจของสังคม ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนหนึ่งต้องพบกับปัญหาในการดำรงชีวิตและเกิดความท้อแท้สิ้นหวังจากอคติและการไม่ยอมรับจากสังคม ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการศึกษาตามระบบหรือไม่สามารถหางานได้ ทั้งที่จริงแล้วผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นปกติไม่แตกต่างจากคนทั่วไป
อาการแสดงของโรคลมชักมีหลายแบบ ทั้งเกร็งกระตุก เหม่อ สะดุ้งผวา ทำอะไรซ้ำ ๆ ไม่มีจุดหมาย ในบางรายอาจมีน้ำลายยืดหรือปัสสาวะราดขณะมีอาการชัก กรณีที่ชักต่อเนื่องไม่หยุดและร่างกายมีอาการแข็งเกร็ง สมองอาจจะขาดออกซิเจน เกิดความพิการตามมาได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พยายามหาสาเหตุของโรคลมชักนั้น ๆ จะมีโอกาสหายขาดจากโรคลมชักได้ ซึ่งการรักษาที่สำคัญคือการรับประทานยากันชักเพื่อควบคุมอาการ
พญ.กมรวรรณ กตัญญูวงศ์ กุมารแพทย์สาขาประสาทวิทยา กรรมการบริหารศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์โรคสมองภาคเหนือจัดกิจกรรมค่ายผู้ป่วยโรคลมชักต่อเนื่องทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักให้มากขึ้นและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อสร้างกำลังใจและความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยโรคลมชัก
“เราต้องการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักไปสู่ชุมชนให้ได้มากขึ้น การร่วมกิจกรรมเปิดโอกาสให้ผู้ดูแลสามารถสอบถามปัญหาที่สงสัย หรือวิธีการดูแลเบื้องต้นเมื่อลูกมีอาการชัก อะไรที่กระตุ้นทำให้เกิดโรคลมชัก เราอยากให้ผู้ป่วยโรคลมชักและผู้ดูแล เข้าใจว่าโรคลมชักมีอาการอย่างไร ไม่ต้องกลัวเกินไป เพราะผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ ” พญ.กมรวรรณ กล่าว
กิจกรรมค่ายผู้ป่วยโรคลมชัก ประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการ เช่น แนะนำอาการของโรคลมชัก อธิบายขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยยากันชัก การผ่าตัด วิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่ถูกต้อง รวมถึงเทคนิคในการรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ และเทคนิคในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยขณะมีอาการชักอย่างถูกต้อง ฯลฯ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ดูแลได้ซักถามข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคลมชัก
นอกจากนี้ ในค่ายผู้ป่วยโรคลมชักยังมีกิจกรรมแสดงความสามารถของผู้ป่วย เช่น การเล่นเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ การร้องเพลง และปีนี้ บฤงคพ วรอุไร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งเป็นอาจารย์และนักดนตรีที่มีความสามารถ จะมาให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในการนำดนตรีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะดนตรีมีผลต่อการพัฒนาสมอง