“แพกซ์โลวิด” 4.5 หมื่นคอร์ส ถึงไทยแล้ว พร้อมกระจายทั่วไทยสงกรานต์นี้
วันนี้ (11 เม.ย. 65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีรับมอบยา “แพกซ์โลวิด” จำนวน 4.5 หมื่นคอร์ส จากบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ในไทย เป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดง่ายแต่รุนแรงน้อย คนที่รับวัคซีนแล้ว หากติดเชื้ออาการไม่รุนแรง แต่ปัญหาที่พบคือ มีผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อ ชีวิตทุกวัน ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต หากคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์พิจารณาเห็นว่า ยาตัวไหนที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลลดการเสียชีวิตได้ ก็จะไม่รีรอที่จะจัดหาและขอมติ ครม.จัดซื้อโดยเร็ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่การระบาดที่ผ่านมา ประเทศไทยมียาและวัคซีนเพื่อให้เกิดความมั่นคงมั่นใจในการป้องกันรักษาผู้ป่วยครบอคลุมทุกสภาพ ตั้งแต่ยาฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซีเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และล่าสุดคือแพกซ์โลวิด ที่จดทะเบียนกับ อย. ว่าเป็นยาเพื่อรักษาโควิด ไม่ใช่ยาต้านไวรัสทั่วไป
นายอนุทินยังกล่าวว่า หลังจากกรมการแพทย์ได้รับมอบยาแพกซ์โลวิดตามข้อตกลงจัดซื้อที่ลงสัญญากับไฟเซอร์เมื่อวันที่ 24 มี.ค.65 ขณะนี้ยาอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมแล้ว โดยจะเป็นผู้จัดเก็บและขนส่งกระจายยาไปทั่วประเทศ ยืนยันว่า บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทุ่มเทดูแลประชาชนให้ปลอดภัยจากการคุกคามของโควิด และจะทำให้โรคนี้ไปสู่โรคประจำถิ่นให้ได้
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงยาแพกซ์โลวิดว่า จากการศึกษาวิจัยในผู้ป่วย 1,379 คน พบว่าช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ 88% เมื่อได้รับยาภายใน 5 วัน นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยกลุ่มที่ให้ยาแพกซ์โลวิด มีการนอนโรงพยาบาล 0.77% และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้ยาหลอก มีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 6.31% มีผู้เสียชีวิต 13 คน
สำหรับยาแพกซ์โลวิดที่ส่งมอบครั้งนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จะนำไปใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล
สำหรับการกระจายยาแพกซ์โลวิด องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้กระจาย โดยมีหลักการคล้ายกับโมลนูพิราเวียร์ คือ ส่งไปตามโรงพยาบาลใหญ่ ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณากระจายในเขตสุขภาพเอง คาดว่าจะสามารถกระจายยาได้ภายในช่วงสงกรานต์นี้