PUBLIC HEALTH

การศึกษาพบ ‘ยาไซมิพรีเวียร์’ มีฤทธิ์รักษาโควิด-19 ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส

ฮ่องกง-วันนี้ (10 พ.ค. 64) มหาวิทยาลัยภาษาจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) เปิดเผยว่าการศึกษาทั่วโลกที่นำโดยเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน ชี้ให้เห็นว่า “ยาไซมิพรีเวียร์” (Simeprevir) สำหรับรักษาไวรัสตับอักเสบซี สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ได้

คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ และมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 30 คนจากห้องปฏิบัติการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อค้นหาโมเลกุลยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2020

คณะวิจัยพบว่ายาไซมิพรีเวียร์สามารถมุ่งโจมตีโปรตีนหลัก 2 ตัวที่จำเป็นต่อการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้ในเวลาเดียวกัน ผ่านการผสมผสานระหว่างชีวเคมี ชีววิทยาของเซลล์ และเทคนิคเคมีเชิงคำนวณ ซึ่งยาไซมิพรีเวียร์ถือเป็นยาต้านไวรัสชนิดเดียวที่สามารถโจมตีโปรตีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้มากกว่า 1 ตัว

อู๋เหวยหลง ศาสตราจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยภาษาจีนแห่งฮ่องกง ชี้ว่ายาไซมิพรีเวียร์เป็นสารต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีโดยจะเข้าไปขัดขวางการทำงานโปรตีเอส (Protease) ของไวรัส เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส

เฉินจื้อเวย รองศาสตราจารย์วิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์แห่งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่าคณะวิจัยยังได้ประเมินผลต้านไวรัสของยาไซมิพรีเวียร์ร่วมกับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) โดยพบว่ายาเรมเดซิเวียร์และยาไซมิพรีเวียร์ 3.3 ไมครอน (uM) มีฤทธิ์ต้านไวรัสเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้ยาเรมเดซิเวียร์เพียงตัวเดียว

ด้าน สวี่ซู่ชาง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจจากมหาวิทยาลัยภาษาจีนแห่งฮ่องกง เผยว่าการศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานนี้ชี้ให้เห็นว่าวัคซีนและยาที่มีอยู่อาจไม่สามารถต่อสู้กับโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ยิ่งไปกว่านั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าไวรัสอาจกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่คุกคามสุขภาพของประชาชนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายกรอบการรักษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาในอนาคต” สวี่กล่าว

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเอซีเอส เซนทรัล ไซเอนส์ (ACS Central Science) ซึ่งเป็นวารสารด้านเคมีชั้นนำระดับนานาชาติ

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว

Related Posts

Send this to a friend