พร้อมดูแล เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ขาดคนดูแลเหตุโควิด19 และอำนวยความสะดวกจองวัคซีน-ส่งตัวรักษาโรงพยาบาล
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด19 ให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ครอบคลุม เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นผู้ป่วยโควิด19 แต่ก็อาจได้รับผลกระทบ เพราะเป็นผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง เมื่อผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด19 กลุ่มเปราะบางจึงอยู่ในสถานะขาดที่พึ่ง ภาครัฐจึงต้องวางแผนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาของคนกลุ่มนี้ด้วย
ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สั่งงเปิดสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศเป็นการเฉพาะ ในกรณี 1) ได้รับความเดือดร้อนไม่มีผู้ดูแลเนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเป็นผู้ติดเชื้อโควิด19
2) รักษาหายแล้วและกลับมาอยู่ในครอบครัว แต่มีความเครียดวิตกกังวล
3) ถูกทิ้งไว้ลำพัง และ
4 ) ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 เป็นผู้ส่งเสียเลี้ยงดู
พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีการแพร่ระบาดของโรคฯอย่างมาก พม. ได้เตรียมสถานที่พักพิงสำหรับกลุ่มเปราะบางไว้ต่างหาก อาทิ กรณีเด็ก ใช้สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี (เฉพาะเด็กหญิง) สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (เฉพาะเด็กชาย) สถาบันประชาบดี ปทุมธานี กรณีผู้สูงอายุ ใช้ที่พักคนเดินทางดินแดงบ้านสร้างโอกาส ศูนย์ฝึกอบรมผู้สูงอายุ บางละมุง กรณีคนพิการ ใช้ศูนย์พัฒนาและฝึกอาชีพคนพิการ พระประแดง
ในส่วนการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ติดเชื้อโควิด19 รองโฆษกฯ กล่าวว่า พม.พร้อมให้การดูแลประสานกทม. และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อส่งต่อเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล เช่น ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและผู้ป่วยพิการที่ต้องรับการดูแลเป็นพิเศษ พม. ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จัดพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ หรือหากผู้ป่วยติดต่อประสานเข้ารักษาพยาบาลไว้แล้ว แต่มีปัญหาไม่มีรถมารับ พม.จะจัดรถไปรับเพื่อส่งไปรับการรักษา พร้อมกันนี้ เรื่องการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน ได้เตรียมอาสาสมัครพัฒนาสังคม (อพม.) และเจ้าหน้าที่ พม. ทั่วประเทศ ไว้คอยช่วยกลุ่มเปราะบางลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน ซึ่งจะฉีดให้กับผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค หากเป็นผู้มีคุณสมบัติแต่ยังลงทะเบียนไม่ได้ สามารถโทรมาขอความช่วยเหลือที่ สายด่วน 1300 ซึ่งจะมีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การลงทะเบียนสำเร็จเรียบร้อย