PUBLIC HEALTH

‘กรมวิทย์ฯ’ รายงานไทยพบโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า 235 ราย สายพันธุ์เบต้า 26 ราย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวลในประเทศไทย โดยได้เฝ้าระวังสายพันธุ์ที่น่ากังวล 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย

1.สายพันธุ์แอลฟ่า (อังกฤษ) – ตรวจพบแล้วจำนวน 3,595 ตัวอย่าง เป็นต้นเหตุของการระบาดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2564 พบเกือบทุกจังหวัด และเข้ามาแทนสายพันธุ์ที่เคยระบาดอยู่ในประเทศไทย

2.สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) – ตรวจพบแล้วจำนวน 235 ตัวอย่าง โดยพบรายงานครั้งแรกในเขตกรุงเทพมหานคร และมีการระบาดออกไปใน

ภาคเหนือและภาคอีสานตามกลุ่มแรงงานที่เดินทางกลับบ้านจากกรุงเทพมหานครในช่วงระบาด

3.สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) – ตรวจพบแล้ว จำนวน 26 ตัวอย่าง โดยพบรายงานครั้งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสายพันธุ์นี้ระบาดในรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย พบได้จากกลุ่มบุคคลที่เดินทางข้ามพรมแดนไทยและมาเลเซีย ซึ่งต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดสำหรับผู้ป่วยในจังหวัดปัตตานี สงขลาและนราธิวาส 

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งได้มีการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ 3 วิธี ดังนี้ 

1.การตรวจเฉพาะตำแหน่งกลายพันธุ์ ที่มีความจำเพาะต่อสายพันธุ์ที่น่ากังวลด้วยเทคนิค Real-time PCR สามารถทำได้ในระดับเขตภูมิภาค 

2.Target sequencing ตรวจการกลายพันธุ์ในตำแหน่งต่างๆ ทั้งที่ทราบข้อมูลการกลายพันธุ์อยู่แล้ว หรือค้นหาตำแหน่งการกลายพันธุ์ใหม่บนยีนสำคัญ เช่น ยีนหนามแหลม (spike)  

3.Whole genome sequencing ตรวจข้อมูลทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส เป็นวิธีหลักในการเฝ้าระวังสายพันธุ์เป็นไปอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 เริ่มต้นที่ 9,000 ตัวอย่าง เพื่อให้มีข้อมูลพอเพียงต่อการควบคุมโรค และการบริหารวัคซีนโควิด-19 โดยจะดำเนินการต่อเนื่องไปอย่างน้อย 6 เดือน 

Related Posts

Send this to a friend