PUBLIC HEALTH

กรมอนามัย ย้ำ ‘ไรเดอร์’ ส่งอาหาร ปฏิบัติตามแนวทาง ลดเสี่ยงโควิด-19

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำให้ผู้ขนส่งอาหาร (Rider) ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากพบมีอาการป่วยให้หยุดงานทันที เพื่อลดการติดและแพร่เชื้อโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในขณะนี้ ความนิยมในธุรกิจการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี มีมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานที่ต้องอยู่กับบ้าน ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินในปี 2563 พบว่ามีบริการส่งอาหาร 66 – 68 ล้านครั้งต่อปี และในช่วงการ แพร่ระบาดของโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นปีละกว่าร้อยละ 70

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงจำนวนการใช้บริการ เดลิเวอรีที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสถานการณ์ช่วงนี้ผู้ขนส่งอาหาร (Rider) ในฐานะคนกลางสำหรับการส่งต่ออาหารจากร้านค้าไปยังผู้บริโภคต้องคุมเข้มความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดและแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 โดยขอให้ผู้ขนส่งอาหาร (Rider) ยึดมาตรการทั้ง 9 แนวทาง ดังนี้

1) คัดกรองและประเมินตนเอง ผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus และบันทึกข้อมูลของตนเอง หากมีอาการป่วยให้หยุดงานและ ไปพบแพทย์ทันที

2) กล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะต้องแข็งแรง ปกปิดมิดชิด และทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน

3) สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา

4) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือ เจลแอลกอฮอล์

5) รอรับอาหารในจุดที่ร้านกำหนด

6) งดรวมกลุ่มพูดคุย สูบบุหรี่ และเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ณ จุดพักคอย

7) ตรวจสอบความสะอาดของกล่องบรรจุอาหารทันทีหลังได้รับจากร้านอาหาร

8) ไม่เปิดกล่องบรรจุอาหารจนกว่าจะถึงมือผู้สั่งซื้อ และก่อนเปิดกล่องทุกครั้งต้องล้างมือให้สะอาด

9) ทำความสะอาดมือและถุงมือก่อนและหลังการรับ-ส่งอาหาร”

“สำหรับผู้ประกอบการที่มีระบบบริการอาหารแบบเดลิเวอรีในการจัดส่งให้กับผู้ซื้อ ต้องเน้นย้ำให้ ผู้ขนส่งอาหาร (Rider) ควรอยู่ห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้น สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส นานกว่า 5 นาที ในส่วนของผู้สั่งซื้ออาหารหรือผู้บริโภคให้จัดเตรียมภาชนะรองรับอาหาร เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ และให้ยืนห่างจากผู้ขนส่งอาหาร (Rider) อย่างน้อย 1 เมตร หลังจากรับอาหาร ให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ และควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี e -payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดีเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน ก็จะช่วยให้ปลอดภัยและลดความเสี่ยงโควิด–19 ได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Related Posts

Send this to a friend