กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังโรคติดต่อในเด็กช่วงเปิดเทอม ‘ไข้หวัดใหญ่–โควิด 19–ไข้เลือกออก’
วันนี้ (6 มิ.ย. 67) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนและเป็นช่วงเปิดเทอม ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการระบาดของโรคติดต่อในเด็กหลายโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โควิด 19 โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี เป็นต้น โดยสถานที่เสี่ยงต่อการระบาดคือ ที่มีกลุ่มคนรวมตัวทำกิจกรรม เช่น สถานศึกษา โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ข้อมูลจากการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ โดยกองระบาดวิทยา ในปี 2566 ทั้งปี พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 491,391 ราย และในปี 2567 พบผู้ป่วยแล้ว 133,775 ราย และเมื่อเทียบรายงานการพบผู้ป่วยในช่วงเดือนพฤษภาคมของทั้งสองปี พบว่าปี 2566 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ เด็กแรกเกิด-4 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5-14 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ดังนั้นเด็กและเยาวชนจึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
สำหรับโควิด-19 ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรค ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 1 มิถุนายน 2567 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 20,483 ราย เสียชีวิต 132 ราย โดยระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,863 ราย เสียชีวิต 6 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 738 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 316 ราย ส่วนใหญ่พบในสถานที่ที่มีผู้คนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ซึ่งอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้มากกว่าสถานที่อื่น
ทั้งนี้ แนะนำผู้ปกครองหากบุตรหลานมีอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อยขอให้หยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายดีแล้วจึงกลับไปเรียนได้ และเด็กป่วยไม่ควรเข้าใกล้ผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบาง หากติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอาจมีอาการหนักได้ ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรค เน้นย้ำมาตรการการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญในสถานศึกษาดังนี้
1.เน้นตรวจคัดกรองเด็ก (รวมถึงบุคลากรของโรงเรียน) ก่อนเข้าห้องเรียนทุกเช้า
2.แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ โดยให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย และให้ผู้ปกครองนำเด็กกลับบ้านเพื่อไปรักษา
3.หมั่นทำความสะอาด สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ของเล่น
4.จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือเจลแอลกอฮอล์
สำหรับโรคไข้เลือดออกที่มีการระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝน สถานการณ์ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 30,353 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2567) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี จำนวน 9,085 ราย รองลงมา 15-24 ปี จำนวน 6,861 ราย เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยเรียน จึงขอความร่วมมือให้ทุกสถานศึกษาเร่งสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำทุกสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ หากบุตรหลานมีอาการสงสัยป่วยไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ให้หยุดเรียน และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หากไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที