นักวิจัยจุฬาฯ พัฒนา ATK แบบใหม่ วัดผลแม่นยำด้วยเคมีไฟฟ้า ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ดร.สุดเขต ไชโย ดร.จักรพรรณ ขุมทรัพย์ และ ดร.อับดุลฮาดี ยะโก๊ะ พัฒนา ATK ร่วมกับเคมีไฟฟ้าแบบไม่ติดฉลากสำหรับการวินิจฉัยโรคโควิด-19 แก้ปัญหาการนำเข้า ATK ที่มีราคาสูง รวมถึงช่วยประสิทธิภาพของชุดตรวจ ATK ตลอดจนต่อยอดชุดตรวจที่สามารถรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับชุดตรวจ ATK ร่วมกับเคมีไฟฟ้าแบบไม่ติดฉลาก เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ กับศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล (QDD Center) จุฬาฯ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566
ดร.สุดเขต กล่าวว่า นวัตกรรม ATK แบบใหม่ เป็นการนำชุดตรวจโควิด-19 มาทำงานร่วมกับเคมีไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความแม่นยำและความไวในการตรวจและเป็น ATK ที่ผลิตได้ในประเทศไทย โดยอาศัยหลักการการจับกันระหว่างแอนติบอดีและแอนติเจนช่วยให้มีความไวในการตรวจจับเชื้อโควิด-19 ได้ดีขึ้น แม้จะมีเชื้อในปริมาณน้อยก็ตาม ต้นทุนการผลิตจึงต่ำ ทำให้ราคาถูกกว่าที่จำหน่ายทั่วไปเกือบครึ่ง
“การตรวจวัดสัญญาณทางเคมีไฟฟ้าจะแปรผกผันกับความเข้มข้นของเชื้อไวรัสโควิด-19 กรณีผู้ป่วยมีเชื้อเป็นบวก ค่ากระแสไฟฟ้าจะลดลง แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเชื้อเป็นลบค่ากระแสไฟฟ้าจะไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการลดลงของกระแสไฟฟ้าสามารถใช้ในการวินิจฉัยโรค โควิด-19 ได้” ดร.สุดเขต กล่าว
นอกจากนี้ อุปกรณ์ในชุดตรวจ ATK แบบใหม่ สิ่งที่เพิ่มพิเศษขึ้นมาคือขั้วไฟฟ้าที่สอดอยู่บริเวณใต้ ATK และซองบรรจุ ATK ที่จะมี QR Code สำหรับสแกนเพื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถดูการแปลผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ได้จากตัวเลข ที่ปรากฎบนสมาร์ทโฟน ซึ่งง่ายและแม่นยำกว่าการดูแถบสีด้วยตาเปล่า แม้จะมีเชื้อโควิด-19 เพียงเล็กน้อย ผลก็จะปรากฏ
ดร.สุดเขต เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังพัฒนาเครื่องอ่านสัญญาณในชุดตรวจให้อ่านง่ายขึ้น เพื่อที่ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยตัวเองที่บ้าน นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังมีโครงการพัฒนาเซนเซอร์ชุดตรวจวัดโรคทางเพศสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชาชนสามารถคัดกรองโรคได้ด้วยตนเองก่อนไปตรวจที่โรงพยาบาล