‘อนุทิน’ แจง UCEP COVID-19 PLUS ครม.ไม่ตีตก เพราะเป็นการตัดสินใจของ สธ.
‘อนุทิน’ แจง UCEP COVID-19 PLUS ครม.ไม่ตีตก เพราะเป็นการตัดสินใจของ สธ.ย้ำ ผู้ป่วยเหลือง-แดง ได้สิทธิ์รักษาพยาบาลเหมือนเดิม
วันนี้ (3 มี.ค. 65) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความชัดเจนเรื่องออกประกาศ แนวทางรักษาผู้ป่วยโควิด -19 (UCEP COVID-19 PLUS) ว่า
ที่ผ่านมามีการออกข่าวว่าถูก ครม.ตีตกไปแล้ว ขอย้ำว่า เรื่องนี้ ครม.ตีตกไม่ได้ แนวทางการรักษาพยาบาล เป็นเรื่องของแพทย์ ที่จะพิจารณา เป็นเรื่องของ รมว.สธ.ตัดสินใจ แล้วที่มีการทักท้วงว่า ตอนนี้ จำนวนผู้ป่วยอยู่ในช่วงขาขึ้น ยิ่งต้อง ให้เข้าถึงเตียงมากที่สุด แต่ในทางกลับกัน เมื่อผู้ป่วยมาก ก็ยิ่งต้องสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ อย่างผู้ป่วยหนัก เราต้องจัดการภาพใหญ่ ลดความสูญเสีย
ย้ำว่า UCEP PLUS เราไม่ได้จะทิ้งคนป่วย แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของโรคแล้ว และเราต้องดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม สิ่งที่ต้องขอ ครม.ไม่ใช่เรื่องของแนวทางการรักษา แต่เป็นเรื่องของงบ ในการมาดูแล UCEP PLUS ซึ่งผู้ป่วยเกณฑ์สีเหลืองแดง ต้องดูแลเหมือนเดิม แต่เขียว ต้องได้รับการรักษาที่บ้าน ที่ต้องเข้า ครม.เพราะเราไม่อยากเห็นปัญหาเรื่องเบิกจ่าย เรื่องมีแค่นี้
เมื่อถามเรื่องสายด่วนโควิด -19 ไม่พอ นายอนุทิน ตอบว่า ได้สั่งการไปแล้ว หาวิธี ในการนำผู้ป่วยเข้าระบบให้ได้มาก และดำเนินโครงการเจอ แจก จบ ให้เร็ว วันนี้ ได้ประชุม กับคณะผู้บริหาร เห็นตรงกัน สถานการณ์วันนี้ ยังดีกว่าปีก่อน ที่เราไม่มีวัคซีน เตียงไม่พอ รถฉุกเฉินไม่พอ ปัจจุบัน เราเหลือแค่การนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบ Home Isolation พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในการรักษาตัวเองที่บ้านแล้ว ทางกระทรวงฯ พยายามคลี่คลายปัญหาคอขวด ด้วยสมมุติฐานว่า โรคไม่รุนแรง มีอันตราย น้อยลงมาก หลายคนสามารถเข้าสู่โครงการเจอ แจก จบ เราสนับสนุนเรื่องยา เราพยายามทำให้คนเข้าใจโรค พร้อมไปกับเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์
ในเรื่องสายด่วน ได้สั่งการให้ทุกกรมกอง เพิ่มศักยภาพ การสื่อสารกับผู้ติดเชื้อ ที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจว่า ผู้ป่วยมีความกังวล และต้องการสอบถามเกี่ยวกับโรค จาก อาจจะต้องแยกสายเพิ่ม เป็นสายการให้คำปรึกษา และสายที่จะนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบรักษา
“การทำงานร่วมกับ กทม. เราสนับสนุนเขาได้ แต่เราไปกำหนดการทำงานไม่ได้ เพราะ กทม.เป็นเขตบริหารพิเศษ แต่เราช่วยกัน เราต้องช่วยประชาชน ต้องเข้าใจว่า กทม.กับต่างจังหวัดต่างกัน ต่างจังหวัด มี รพ.สต., รพ.ชุมชน มีที่ให้ไปมาก มีหลายฝ่ายช่วยกันดูแล แต่ กทม.รูปแบบเขากำหนดไว้อีกอย่าง สธ.จากผู้ปฏิบัติ ต้องเป็นผู้สนับสนุน”